วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

โรคพาร์กินสันคืออะไร มาทำความรู้จักกัน


โรคพาร์กินสันถูกอธิบายครั้งแรกโดยนายแพทย์ชาวอังกฤษ “James Parkinson” ในปีคริสตศักราช 1817 เป็นอีกโรคหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากบุคคลทั่วไปเป็นอย่างมากเนื่องจากพบได้บ่อยและเป็นโรคที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จนในปัจจุบันได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสาเหตุและวิธีการรักษาโรคนี้ขึ้นมาอย่างจริงจัง และยังมีการจัดตั้งวันโรคพาร์กินสันขึ้น โดยใช้วันคล้ายวันเกิดของนายแพทย์ท่านนี้ซึ่งตรงกับวันที่ 11 เมษายน ของทุกปี โดยมีการใช้ดอกทิวลิปสีแดงเป็นสัญลักษณ์ประจำวันอีกด้วย

โรคพาร์กินสัน



โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) หรือโรคสันนิบาต เป็นโรคเรื้อรังทางสมองที่ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ทราบแต่เพียงว่าเกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทในก้านสมอง ทำให้ผลิตสารสื่อประสาทโดปามีนได้ลดลง ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของสมอง ทำให้สมองสูญเสียการควบคุมสั่งการการทำงานของกล้ามเนื้อ เกิดเป็นอาการสั่น เกร็ง เคลื่อนไหวช้า ตามมา เป็นโรคพบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มของโรคที่มีการเสื่อมของสมองในคนสูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยจะพบประมาณ 1% ของคนทั่วโลก ในทุกเชื้อชาติ และมักจะพบในเพศชาติมากกว่าเพศหญิงประมาณ 1.5 เท่า


สาเหตุของโรคพาร์กินสันคืออะไร

ณ ปัจจุบันสาเหตุของการเกิดโรคพาร์กินสันในผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน แต่จะมีเพียงประมาณ 5% ของผู้ป่วยที่มีสาเหตุการเกิดโรคมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว ความผิดปกตินี้สามารถตรวจสอบได้จากตำแหน่งบนโครโมโซมที่ชัดเจน โดยเป็นความผิดปกติที่สามารถถ่ายถอดไปสู่รุ่นลูกหลานได้และในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเกิดอาการของโรคก่อนที่จะมีอายุ 45 ปี ต่างจากในผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่จะปรากฏอาการเมื่ออายุเลย 60 ปีไปแล้ว

สาเหตุสำคัญของโรคพาร์กินสันตามทฤษฎี สามารถสรุปได้ดังนี้
1. ความชรา
เมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น อวัยวะต่างๆก็เสื่อมไปตามเวลา สมองก็เช่นเดียวกัน เนื่องด้วยความชราภาพของสมองส่งผลทำให้ความสามารถในการสร้างสารโดปามีน (สารสื่อประสาทที่สร้างจากกลุ่มเซลล์ประสาทสีดำบริเวณก้านสมอง ในตำแหน่งที่เรียกว่า Substantia nigra มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวร่างกาย) มีจำนวนลดลง เมื่อเซลล์ประสาทของสมองตายไปประมาณ 60-80% ผู้ป่วยจึงจะเริ่มเกิดอาการขึ้นมา โดยทั่วไปมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ทั้งเพศชายและหญิง

2. ยากล่อมประสาท หรือ ยานอนหลับ
สาเหตุนี้จะพบในผู้ป่วยโรคทางจิตเวชที่จำเป็นต้องได้รับยากล่อมประสาท หรือ ยานอนหลับ เพื่อป้องกันอาการคลุ้มคลั่งและอาการทางจิตประสาทอื่นๆ เนื่องด้วยฤทธิ์ต่อสมองในการกดหรือต้านการสร้างสารโดปามีนของยาเหล่านี้ ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการของโรคพาร์กินสันตามมาได้

3. ยาลดความดันโลหิตสูง
ยาลดความดันโลหิตบางชนิดจะไปออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลต่อสมองในการลดการสร้างสารโดปามีน แต่สาเหตุนี้เป็นเพียงเรื่องในอดีตเท่านั้น เพราะยารักษาโรคความดันโลหิตในปัจจุบันนั้นจะออกฤทธิ์นอกระบบประสาทส่วนกลาง จึงไม่มีผลต่อการเกิดโรคพาร์กินสันอีกต่อไป

4. การอุดตันของหลอดเลือดสมอง
เมื่อหลอดเลือดสมองเกิดการอุดตันขึ้น สมองก็เกิดการขาดเลือด ทำให้เซลล์สมองตาย สารโดปามีนที่สร้างได้จึงน้อยลงหรืออาจสร้างไม่ได้อีกต่อไป ส่งผลให้เป็นโรคพาร์กินสันในที่สุด

5. สารพิษ
สารบางชนิดมีผลในการทำลายเซลล์สมองได้ เช่น แมงกานีสจากโรงงานถ่านไฟฉาย สารพิษจากคาร์บอนมอนอกไซด์

6. การขาดออกซิเจนของสมอง
อาจเกิดได้ในกรณีที่จมน้ำ ขาดอากาศหายใจเนื่องจากทางเดินหายใจเกิดการอุดตันโดยอาหารหรือเสมหะ หรือแม้กระทั่งถูกทำร้ายโดยการบีบคอ

7. การกระทบกระเทือนของศีรษะ จากอุบัติเหตุหรือการโดนทำร้าย

8. การอักเสบของสมอง

9. โรคทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น โรควิลสัน

10. ยากลุ่มต้านแคลเซียมซึ่งใช้รักษาโรคสมอง โรคหัวใจ รวมถึงยาแก้เวียนศีรษะและยาแก้อาเจียนบางชนิด

อาการของโรคพาร์กินสันมีอะไรบ้าง

อาการโรคพาร์กินสัน

เนื่องจากพาร์กินสันถือเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ลักษณะของอาการที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปช้าๆ ค่อยๆปรากฏที่ละเล็กละน้อย ไม่มีอาการเฉียบพลันทันที และความรุนแรงของอาการจะเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไป

อาการของโรคพาร์กินสันสามารถแบ่งได้ดังนี้
1. อาการทางระบบประสาทสั่งการ ถือว่าเป็นอาการหลักที่จะต้องพบในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ได้แก่
• การสั่นในขณะพัก (Resting tremor) เป็นอาการเริ่มต้นที่พบ เมื่อผู้ป่วยเกิดอาการเครียดอาการสั่นจะแรงขึ้น แต่จะสั่นด้วยความถี่ที่คงที่คือ 4-6 ครั้งต่อวินาที และอาการจะหายไปเมื่อนอนหลับ ซึ่งมักจะเริ่มจะนิ้วก่อน ตามด้วยข้อมือและแขนตามลำดับ ปกติจะไม่เกิดอาการแบบ symmetry คืออาการจะเกิดเพียงข้างเดียว ไม่เป็นพร้อมกันทั้งสองข้าง และเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ขาและเท้าก็จะเริ่มเกิดอาการสั่นตามมา จนในที่สุดก็เป็นทั่วร่างกาย ยกเว้นเพียงบริเวณศีรษะและลำคอที่จะไม่เกิดอาการสั่น

• การเคลื่อนไหวร่างกายช้าลง (Bradykinesia) ร่างกายส่วนต่าง ๆ จะเคลื่อนไหวน้อยลงและช้าลง
การเคลื่อนไหวที่ใบหน้าลดลง การแสดงสีหน้าลดลงจนทำให้มีหน้าตายเหมือนใส่หน้ากากอยู่ เสียงพูดเบาลง พูดไม่มีจังหวะสูงต่ำ เมื่ออาการรุนแรงขึ้นคำพูดจะไม่ชัดเจนจนอาจฟังไม่รู้เรื่อง ไม่กระฉับกระเฉงว่องไวเหมือนเดิม เดินช้าแบบสโลว์โมชั่น สังเกตได้ว่าขณะเดินแขนจะไม่แกว่ง และผู้ป่วยมักจะบ่นว่าแขนขาไม่มีแรง

• อาการเกร็ง (Rigidity) มักมีอาการแข็งตึงของแขนขา ทำให้เคลื่อนไหวได้ลำบาก หากจับแขนหรือขาของผู้ป่วยให้ขยับจะรู้สึกได้อย่างชัดเจนเลยว่ามีแรงต้านเกิดขึ้น

• มีปัญหาการทรงตัว (Postural instability) มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มานานแล้ว โดยผู้ป่วยจะขาดความสมดุลในการทรงตัว ทำให้ไม่สามารถยืนในท่าปกติได้ แต่จะต้องเอนตัวไปทางด้านหน้า ทำให้จุดศูนย์ถ่วงย้ายไปทางด้านหลัง ส่งผลให้ล้มได้ง่ายขึ้นขณะเดิน

2. อาการทางจิตประสาท ได้แก่
• ภาวะซึมเศร้า ประมาณ ? ของผู้ป่วยมักพบอาการนี้ได้ โดยสามารถพบได้ในทุกๆระยะของเป็นโรค
• อาการวิตกกังวล กระวนกระวายใจ ไม่มีความสุข
• อาการจิตเภท เช่น ภาพหลอน
• การนอนหลับผิดปกติ โดยในเวลากลางคืนจะนอนไม่ค่อยหลับ แต่ในช่วงกลางวันจะรู้สึกเฉื่อยชาและง่วงนอน
• การเรียนรู้ถดถอยลง พบในระยะหลังๆของการเป็นโรค ผู้ป่วยจะมีสมาธิในการทำงานลดลง รู้สึกยากลำบากขึ้นในการต้องทำงานที่มีความซับซ้อน แต่จะไม่มีผลกระทบใดๆต่อการใช้ทักษะในการคำนวณตัวเลข และการใช้ภาษาต่างๆ
• อาการหลงลืม ความจำเสื่อม พบในระยะหลังๆของการเป็น ต่างกับอาการของโรคอัลไซเมอร์ ที่มีอาการพาร์กินสันร่วม ซึ่งจะมีอาการหลงลืมเป็นอาการเด่นนำมาก่อนตั้งแต่ต้น
3. อาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ
• เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนท่าทาง เช่น จากนั่งเป็นยืน ทำให้เกิดอาการหน้ามืดได้ แต่จะไม่ถึงกับเป็นลมหมดสติ
• ท้องผูก
• กลั้นปัสสาวะไม่ได้
• เหงื่อออกมาก


โรคพาร์กินสันรักษาได้อย่างไร

วิธีรักษาโรคพาร์กินสัน
พาร์กินสันเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด เมื่อเป็นโรคนี้แล้วจำเป็นต้องได้รับการรักษาไปตลอดชีวิต โดยแนวทางการรักษามี 3 วิธีคือ
1. ยา การใช้ยาเป็นหลักสำคัญที่สุดในการรักษา โดยจะใช้ยาที่มีคุณสมบัติไปออกฤทธิ์เพิ่มการหลั่งสารโดปามีนในสมอง ทำให้อาการของโรคดีขึ้น
2. กายภาพบำบัด ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก การรักษาด้วยวิธีนี้สามารถทำเองได้ที่บ้าน แต่ถ้าเป็นมากก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำต่อไป
3. การผ่าตัดสมอง ในปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนาและทำกันมากขึ้น แต่ก็ยังถือเป็นส่วนน้อยในผู้ป่วยบางรายเท่านั้นที่แพทย์แนะนำให้ทำการผ่าตัดเพื่อทำการรักษา

ยาที่รักษาโรคพาร์กินสัน

• นอกจาก “levodopa” ซึ่งในปัจจุบันถือว่าเป็นยาที่ดีที่สุดที่ใช้ในการรักษาโรคพาร์กินสันแล้ว ผู้ป่วยอาจใช้ pramipexole หรือ ropinirole ที่เป็นยาที่มีคุณสมบัติออกฤทธิ์ได้นานกว่า โดยได้รับยาเพียงแค่วันละ 1 ครั้งก็เพียงพอแล้ว หรืออาจใช้ rotigotine patch ซึ่งเป็นยาชนิดแผ่นแปะบริเวณผิวหนัง โดยยาใหม่ทั้งสามตัวนี้อยู่ในกลุ่ม โดปามีน อโกนิส (dopamine agonists) ซึ่งมักใช้ในระยะเริ่มต้นจะช่วยชะลอให้โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาวช้าลง
• ยาใหม่อีกกลุ่มคือ rasagiline อยู่ในกลุ่ม MAO-B inhibitor ก็มีฤทธิ์ในการลดอาการของโรคพาร์กินสันได้เช่นกัน
• ยาที่มีส่วนประกอบของยา levodopa ร่วมกับ entacapone และ carbidopa นั้นจะสามารถยืดระยะเวลาให้ยาสามารถออกฤทธิ์ได้นานขึ้นกว่าเดิม
• Apomorphine ยาน้ำชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนัง โดยอาจจะฉีดเป็นครั้งๆ หรือแบบต่อเนื่องโดนเครื่องปั๊มยาเพื่อลดการหมดฤทธิ์ก่อนเวลาของยาก็ได้


สมุนไพรที่ใช้รักษาโรคพาร์กินสัน

• หมามุ่ย
• สมุนไพรจีนโกวเถิง
• แก่นตะวัน