วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2559

การแท้งบุตร แท้งลูก (Abortion) คืออะไร มีกี่ชนิด สาเหตุของการแท้งบุตรคืออะไร


การแท้งบุตร ในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Miscarriage จะแปลว่าการแท้งเองโดยไม่ได้ตั้งใจ คำว่า Abortion จะหมายถึงการแท้งโดยการกระทำที่ผิดกฎหมาย ส่วนในไทยคำว่า Abortion เป็นคำที่ใช้กันโดยทั่วไปซึ่งหมายถึงภาวะแท้งบุตร มิได้แบ่งแยกชนิด ส่วนคำที่หมายถึงการแท้งบุตรโดยการกระทำที่ผิดกฎหมายเราจะใช้คำว่า Il-legal abortion


ความหมายของการแท้งบุตร

การแท้งบุตรความหมายทางการแพทย์นั้นหมายถึง ภาวะ การสิ้นสุดการตั้งครรภ์ ก่อนที่ทารกในครรภ์จะมีชีวิตอยู่รอด และการสิ้นสุดการตั้งครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ หรือ ก่อนที่ทารกในครรภ์จะมีน้ำหนักตัวเกิน 500 กรัม


การแท้งบุตรสามมารถแบ่งเป็นชนิดหลักๆได้ 2 ชนิด

แท้งลูก



1.การแท้งเอง (spontaneous abortion)

หรือการแท้งโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งอาจเกิดการสิ้นสุดการตั้งครรภ์หรือ อาจสามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ก็ได้ สามารถแบ่งได้อีก ดังนี้คือ

1.1 การแท้งคุกคาม (threatened abortion) เป็นภาวะที่มีเลือดออกจากโพรงมดลูก แต่ปากมดลูกยังปิดอยู่ ซึ่งการแท้งชนิดนี้ การตั้งครรภ์สามารถดำเนินต่อไปได้โดยทารกมีความปลอดภัยสูงเนื่องจากไม่มีผลิตภัณฑ์ของการตั้งครรภ์หลุดออกมา

1.2 การแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (inevitable abortion) เป็นภาวะที่มีเลือดออกจากโพรงมดลูก และมีการเปิดขยายของปากมดลูกร่วมด้วย โดยที่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ของการตั้งครรภ์หลุดออกมา

1.3 การแท้งครบ (complete abortion) เป็นภาวะที่มีเลือดออกจากโพรงมดลูกและผลิตภัณฑ์ของการตั้งครรภ์ทั้งหมดหลุดออกมา อันได้แก่ ถุงน้ำคร่ำ น้ำคร่ำ รก และทารก หลังจากนั้นปากมดลูกจะปิด

1.4 การแท้งไม่ครบ (incomplete abortion) เป็นภาวะที่มีเลือด และ ผลิตภัณฑ์ของการตั้งครรภ์ หลุดออกมาบางส่วน และปากมดลูกจะยังเปิดอยู่ เนื่องมาจาก ผลิตภัณฑ์จากการตั้งครรภ์ยังออกมาไม่ครบ

1.5 การแท้งค้าง (missed abortion) เป็นภาวะที่ทารกเสียชีวิตอยู่ในครรภ์เป็นเวลาหลายวัน โดยที่ปากมดลูกจะยังปิดอยู่ ไม่มีผลิตภัณฑ์ของการตั้งครรภ์หลุดออกมา ภาวะนี้เป็นอันตรายต่อมารดามากอาจส่งผลให้มารดาติดเชื้อในแระแสเลือด หรืออาจเกิดภาวะ DIC ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้



2.การชักนำให้เกิดการแท้ง(Induced abortion)

หรือการทำแท้งโดยตั้งใจให้เกิดการสิ้นสุดการตั้งครรภ์

ทำแท้งลูก

2.1 การทำแท้งรักษา(Therapeutic abortion) คือการทำแท้งโดยมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น มารดารมีโรคแทรกซ้อนทางอายุรกรรมร้ายแรงหากการตั้งครรภ์ยังดำเนินต่อไปอาจเป็นผลทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น โรคหัวใจขั้นรุนแรง โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรังเป็นต้น

2..2 การทำแท้งโดยผิดกฎหมาย (Criminal abortion) คือการทำแท้ง โดยที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น การทำแท้งด้วยตนเองโดยวิธีใดๆก็ตาม การทำแท้งชนิดนี้มีความอันตรายมากเนื่องจากอาจส่งผลให้มาดามีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด หรืออาจตกเลือด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้


สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแท้งลูก แท้งบุตร

1.เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม เช่น โรคดาวซินโดรม คือมีความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 และที่พบบ่อยได้แก่ trisomy ที่ 13,16,18

2.มารดามีการติดเชื้อขณะตั้งครรภ์
3.เป็นโรคที่มีความผิดปกติของการทำงานของต่อมไร้ท่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
4.มีภาวะ ขาดฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรน หรือภาวะ Luteal phase defect เป็นภาวะที่มีการสร้างโปรเจสเตอร์โรน จาก คอปัสลูเทียม (Corpus luteum) น้อยลง ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่แข็งแรง หรือ อาจทำให้มีการสลายตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก จึงเป็นผลต่อการฝังตัวของทารก
5.ภาวะพร่องทางโภชนาการ (Malnutrition)
6.การสูบบุหรี่ เป็นผลทำให้หลอดเลือดที่รกเสื่อมสภาพ ทารกได้รับสารอาหารน้อยลงไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต ทารกอาจเกิดภาวะเจริญเติบโตช้าในครรภ์ (Intrauterine growth restriction) เกิดความพิการ (Congenital abnormally) หรือเกิดการแท้งได้ ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่า สตรีตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่เกิน 14 มวน ต่อวัน จะเพิ่มโอกาสเกิดการแท้งบุตรเป็น 2 เท่า ของสตรีที่ไม่ได้สูบ
7.การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการดื่มแอลกอฮอล์ในช่องระหว่างการปฏิสนธิ และช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ มีผลต่อการทำลายระบบประสาทของทารกเนื่องจาก 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์เป็นช่วงที่ทารกมีการสร้างระบบประสาท จึงทำให้ทารกมีการเจริญเติบโตบกพร่อง เช่น ศรีษะเล็ก มีความผิดปกติทางโครงสร้างของสมอง เช่น ทารกไม่มีสมอง (anencephaly) สมองใหญ่ มีร่องผิดปกติ (schizencephaly) เยื่อหุ้มสมองและสมองเลื่อน (lumbarmeningomyelocele) และมีความผิดปกติทางด้านพัฒนาการ ด้านความจำ และการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า (depression) ภาวะวิตกกังวล (anxiety disorder) พฤติกรรมเกเร (conduct disorder) เป็นต้น

ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่า สตรีตั้งครรภ์ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพิ่มโอกาสเสี่ยง ต่อการเกิดการแท้งบุตรเป็น 2 เท่า ของสตรีที่ไม่ดื่ม

8.การดื่มน้ำอัดลม ชา กาแฟ ซึ่งเครื่องดื่มประเภทนี้มีสารที่ชื่อคาเฟอีน มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง กระตุ้นการทำงานของหัวใจ ขับน้ำออกจากร่างกาย และเนื่องจากการตั้งครรภ์โดยปกติจะส่งผลให้การขับคาเฟอีนออกจากร่างการได้ช้าลง และหัวใจทำงานหนักขึ้นอยู่แล้ว เมื่อดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนจะส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำ และกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นไปอีก ที่สำคัญสารนี้สามารถส่งผ่านจากมารดาถึงทารกทางรกได้ ทำให้ทารกก็จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันกับมารดา

อาการที่พบเมื่อดื่มเครื่องดื่มที่มี คาเฟอีน เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มือสั่น ปัสสาวะบ่อยและจากผลการศึกษาจากสัตว์ทดลองพบว่า การดื่มเครื่องที่มีคาเฟอีนจึงไม่เป็นผลดี ต่อสตรีตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ โดยเฉพาะสตรีตั้งครรภ์ที่มีโรคหัวใจร่วมด้วยเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดความพิการของทารกแรกเกิด การคลอดก่อนกำหนด และน้ำหนักของทารกต่ำกว่าเกณฑ์
9.โรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน บางโรค เช่น Antiphospholipid antibody syndrome เป็นโรคที่เกิดจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน โดยระบบสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาทำลายเนื้อเยื่อของตนเอง
10.ความผิดปกติของมดลูก หรือปากมดลูก เช่น ปากมดลูกหลวม ปิดไม่สนิท(Incompetent cervix)


การวินิจฉัย อาการ และอาการแสดง การแท้งลูก

อาการแท้งลูก

1.ประวัติ จากอาการที่พบก่อนมาโรงพยาบาล
  1. มีเลือดออกทางช่องคลอด (bleeding per vagina)
  2. อาการปวดท้องน้อย
  3. พบเศษชิ้นเนื้อหลุดออกมาจากช่องคลอด

*สตรีตั้งครรภ์บางรายที่มีภาวะแท้งบุตร อาจไม่มีอาการดังกล่าว
2.การตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจพิเศษ
3.ขนาดมดลูกโตไม่สัมพันธ์กับอายุครรภ์
4.ตรวจเลือดหาปริมาณฮอร์โมน B-hCG มีความผิดปกติ เนื่องจาก
ฮอร์โมนไม่เพิ่มขึ้น (ฮอร์โมน B-hCG เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากรก เมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นฮอร์โมนจะเพิ่มสูงขึ้น กลับกันหากการตั้งครรภ์สิ้นสุดลง ปริมาณฮอร์โมนจะลดลงน้อยลงด้วย) โดยปกติ B-hCG จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย ร้อยละ 24 ใน 24 ชั่งโมงแรก ร้อยละ 53 ใน 48 ชั่วโมง

5.หากมีเลือดออกมาก จะพบความดันโลหิตต่ำ และอาจมีไข้ร่วมด้วย
6.ตรวจภายใน เพื่อประเมิน ว่าปากมดลูกเปิดหรือไม่
7.ตรวจอัลตร้าซาวด์(Ultrasound)

เพื่อประเมินภาวะของทารกภายในมดลูก และแยกความผิดปกติว่า ทารกยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หากเป็นการแท้ง เป็นการแท้งครบหรือแท้งค้าง แยกจาก การตั้งครรภ์นอกมดลูก และ การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก


แนวทางในการรักษาผู้ที่ผ่านการแท้งบุตร แท้งลูก

  1. ในชนิดของการแท้งคุกคาม และ การแท้งครบ จะได้รับการดูแลโดยการ ให้พักผ่อน
  2. ในชนิดของการแท้งค้าง และแท้งไม่ครบ

Surgical management
  1. การขยายปากมดลูก หากปากมดลูกปิดอยู่ ตามด้วยการขูดมดลูก(sharp curettage) หรือดูด(vacuum aspiration) หรืออาจใช้วิธี ขับออก(evacuation) ซึ่งเป็นวิธีแรกที่จะเลือกทำและเป็นวิธีที่นิยมทำมากที่สุด ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้คือ ภาวะมดลูกทะลุ(uterine perforation)
  2. การผ่าเปิดมดลูก(hysterotomy)
  3. การตัดมดลูก(hysterectomy) กรณีนี้จะทำต่อเมื่อมีการตกเลือดอย่างมากและไม่สามารถหยุดเลือดได้ ซึ่งจะเป็นทางเลือกสุดท้ายเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตของหญิงตั้งครรภ์