วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อาการปวดหลัง (Back pain) สาเหตุ อาการ สัญญาณอันตราย


อาการปวดหลัง ปัจจุบันพบได้บ่อยและสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่จำเพาะเจาะจงเพศหรือกลุ่มอายุ ถึงแม้ว่าจะเป็นภาวะที่ไม่อันตรายร้ายแรงสามารถรักษาให้หายได้ ที่ผ่านมามีรายงานจากกรมการแพทย์ ระบุว่ามีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอาการปวดหลังเรื้อรังเพิ่มมากขึ้นในทุกช่วงอายุและในหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะหนุ่มสาววัยทำงานช่วงอายุตั้งแต่ 25 – 50 ปี สาเหตุอาจมาจากการทำงานที่เคร่งเครียด ไม่มีการปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ส่งผลให้ร่างกายเกิดการอ่อนล้าและเสื่อมสภาพลงไป

ปวดหลัง




โครงสร้างของหลังแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้

1.กระดูกสันหลังเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย เป็นกระดูกแกนกลางที่ทำหน้าที่ในการรองรับน้ำหนักตัว และยังเกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาทอีกด้วย กระดูกสันหลังมีลักษณะเป็นปล้องๆ ประกอบไปด้วยกระดูกทั้งหมด 24 ชิ้นที่เรียกว่า vertebrae เรียงซ้อนกันตั้งแต่กระดูกสะโพกถึงกะโหลกศีรษะ ซึ่งจะเรียกตำแหน่งตามตัวเลข ดังนี้
  • ส่วนคอ (cervical spine) ประกอบด้วยกระดูก 7 ชิ้น (เรียกว่า C1-C7)
  • ส่วนอก(thoracic spine) ประกอบด้วยกระดูก 12 ชิ้น (เรียกว่า T1-T12)
  • ส่วนเอว (lumbar spine) ประกอบด้วยกระดูก 5 ชิ้น (เรียกว่า L1-L5) ซึ่งเป็นส่วนที่พบอาการปวดบ่อยที่สุด เนื่องจากเป็นส่วนที่รองรับน้ำหนักของร่างกายส่วนบน
  • ส่วนกระเบนเหน็บ (sacral spine) ประกอบด้วยกระดูก 5 ชิ้น (เรียกว่า S1-S5) ซึ่งทั้งหมดจะรวมเป็นชิ้นเดียว เรียกว่ากระดูกก้นกบ

กระดูกสันหลังแต่ละปล้องประกอบด้วยกระดูกข้อต่อ 2 ชิ้นและมีหมอนรองกระดูกสันหลังคั่นระหว่างกระดูกแต่ละปล้อง ภายในหมอนรองกระดูกมีลักษณะคล้ายวุ้นหรือเจลลี่ ถ้าหากหมอนรองกระดูกมีการฉีกขาดและส่วนชั้นในเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาท ก็จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังขึ้นได้

ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/กระดูกสันหลัง

2.กล้ามเนื้อหลังยึดติดอยู่กับกระดูกสันหลัง โดยมีเส้นเอ็นที่ยึดกระดูกแต่ละชิ้นเข้าไว้ด้วยกัน
3.เส้นประสาทไขสันหลังในช่องโพรงกระดูกสันหลังจะมีเส้นประสาทไขสันหลังจำนวน 31 คู่ ทำหน้าที่รับความรู้สึกและสั่งงานไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย

กระดูกสันหลังเป็นโครงสร้างที่เป็นแกนกลางของลำตัว และยังเกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาท ซึ่งหากเกิดอาการปวดมากอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้


สาเหตุของอาการปวดหลังที่พบบ่อย
  1. ท่าทางหรืออิริยาบถ การเคลื่อนไหวร่างกาย และการใช้งานหลังที่ไม่ถูกต้อง เช่น การนั่งทำงานในท่าก้มหลังหรือนั่งเอียงเป็นเวลานาน การยกของหนักผิดวิธีโดยใช้การก้มหลัง
  2. ภาวะเสื่อมของกระดูกสันหลัง พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลังมีการเสื่อม และยุบตัวลง ทำให้กระดูกหลังไม่มั่นคงเกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง ในบางรายอาจมีภาวะช่องกระดูกตีบแคบไปกดปลายประสาททำให้ขาเกิดอาการชาหรืออ่อนแรงได้
  3. หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท ซึ่งมักจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน
  4. ภาวะเครียด อาจส่งผลให้มีการเกร็งของกล้ามเนื้อหลังตลอดเวลา ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดขึ้นได้
  5. กระดูกสันหลังอักเสบ เป็นภาวะที่มีการอักเสบของกระดูกสันหลัง พบได้บ่อยในกลุ่มชายวัยกลางคน มีอาการปวดหลังเรื้อรัง อาจมีข้ออักเสบอื่นๆร่วมด้วย
  6. สาเหตุอื่นๆ เช่น โรคของอวัยวะบางอย่างที่ทำให้เกิดอาการปวดร้าวมาบริเวณหลัง ซึ่งได้แก่ โรคไต โรคเกี่ยวกับรังไข่และมดลูก โรคที่เกี่ยวกับต่อมลูกหมาก หรือการกระจายของมะเร็งมาที่กระดูกสันหลัง เป็นต้น

สัญญาณอันตรายของอาการปวดหลัง

ถึงแม้ว่าอาการปวดหลังอาจต้องใช้เวลานานกว่าอาการจะทุเลาลง แต่บางครั้งก็อาจมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนว่าควรรีบพบแพทย์ทันที ได้แก่
  • อาการปวดหลังที่เป็นเรื้อรังติดต่อกันนานเกินกว่า 2 สัปดาห์
  • มีอาการชาหรืออ่อนแรงของขาร่วมด้วย
  • ปวดร้าวจากหลังลงสะโพก ขา จนถึงบริเวณน่องหรือเท้า
  • อาการปวดหลังจากการได้รับบาดเจ็บหรือหกล้ม
  • อาการปวดหลังร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ น้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ

การตรวจวินิจฉัย
แพทย์จะอาศัยการซักประวัติและการตรวจร่างกายเป็นสำคัญ ในบางกรณีอาจต้องทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจภาพถ่ายรังสี เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา


การรักษาอาการปวดหลัง

เป้าหมายของการรักษาอาการปวดหลัง คือ เพื่อลดอาการปวด และให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติที่สุด โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดการปวดหลังและระยะเวลาที่เป็น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยมุ่งรักษาที่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการและพยายามหาวิธีที่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดน้อยที่สุดก่อน โดยทั่วไปการรักษาจะมีอยู่ 2 วิธีหลัก ได้แก่
  1. การรักษาแบบอนุรักษ์ (ไม่ผ่าตัด) มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอาการปวด ให้ผู้ป่วยกลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว ประกอบด้วย
  • การนอนพัก
  • การให้ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อและยากล่อมประสาท
  • ทำกายภาพบำบัด (ดึงหลัง ถ่วงหลัง)
  • การบริหารกล้ามเนื้อเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง มีความยืดหยุ่น สนับสนุนซ่อมแซมโครงสร้างที่เสื่อมสภาพหรือบกพร่อง

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหลัง
  • หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้ปวดหลัง
  • บริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องและแผ่นหลัง
  • งดสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสบติด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดอาหารรสจัด ของทอด อาหารไขมันสูง
  1. การรักษาโดยการผ่าตัด แพทย์จะใช้วิธีการรักษานี้เมื่อผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เช่น ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ขาอ่อนแรง เดินไม่ได้ หรือเมื่อทำการรักษาโดยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
  • ขจัดเอาสิ่งแปลกปลอม ในที่นี้หมายถึง เนื้อหมอนรองกระดูกสันหลังที่เคลื่อนผิดที่และกระดูกที่งอกหนาขึ้น กดทับเนื้อเยื่อประสาท เพื่อให้เส้นประสาทเป็นอิสระจากการกดทับ
  • การจัดแนวกระดูกสันหลังให้อยู่ในแนวปกติ และการเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง