วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สายตายาว (Hyperopia/Presbyopia)คืออะไร


สายตายาว คือความผิดปกติทางสายตา ทำให้มองภาพในระยะใกล้ได้ไม่ชัดเจนเหมือนเดิม เกิดจากกำลังหักเหแสงของกระจกตาและของแก้วตามีไม่พอ หรือลูกตาเล็กเกินไป ทำให้แสงจากวัตถุทั้งระยะไกลและใกล้ไม่ไปโฟกัสบนจอประสาทตา แต่กลับไปโฟกัสที่บริเวณเลยจอประสาทตาไป ส่งผลให้ผู้นั้นมองไม่ชัดทั้งไกลและใกล้ แต่ด้วยระบบ Accommodation อัตโนมัติของตา ทำให้สามารถเห็นภาพระยะไกลได้ชัดเจน ซึ่งในทางฟิสิกส์ คนที่สายตายาว คือคนที่มองเห็นวัตถุได้ชัดระยะใกล้ตามีระยะเกินกว่า 25 เซนติเมตร และระยะไกลตามองได้ไกลถึงระยะอนันต์

รักษาสายตายาว

ระบบ Accommodation คืออะไร ?

เป็นระบบอัตโนมัติในการปรับเพิ่มกำลังเลนส์ตา เพื่อช่วยให้ภาพที่ตกเลยจอประสาทตา มาตกที่จอประสาทตาพอดี ส่งผลให้สามารถมองวัตถุในระยะไกลได้ชัดแม้ว่าจะมีภาวะสายตายาว แต่ถ้าเลื่อนวัตถุมาใกล้มากขึ้น ภาพก็จะตกเลยจอประสาทตาในบริเวณที่ไกลออกไปมากขึ้น ต้องอาศัยการ Accommodation มากขึ้น ตาจึงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อให้ภาพตกที่จอประสาทตาพอดี และเนื่องจากขีดจำกัดของ Accommodation เอง ทำให้คนที่สายตายาวไม่สามารถมองวัตถุใกล้ตัวมากได้ชัด และอาจมีอาการปวดตาร่วมด้วย ขึ้นกับค่าสายตายาวของบุคคลนั้นๆ และกำลังความสามารถในการ Accommodation ของแต่ละบุคคล โดยมีอายุเป็นตัวแปรหลัก

ถ้าดูจากคำที่เป็นภาษาอังกฤษแล้ว สายตายาวจะมีความหมายใน 2 นัยยะ คือ

  • Hyperopia คำนี้เป็นความหมายที่แท้จริงของ “สายตายาว” ในทางการแพทย์ เป็นการสายตายาวตั้งแต่อายุยังไม่มาก เกิดมาจากการหักเหของแสงมาโฟกัสหลังจอรับภาพ
  • Presbyopia เป็นอาการสายตายาวแบบสูงวัย หรืออาจเรียกว่า ภาวะสายตายาวตามอายุ โดยมักจะเริ่มในช่วงอายุ 38-40 ปี เกิดจากความเสื่อมของตาเอง ตามอายุการใช้งาน ทำให้ระบบ Accommodation แย่ลง ส่งผลให้ตาไม่สามารถปรับโฟกัสในระยะใกล้ๆ ประมาณ 1 ฟุต ได้ดีเหมือนเดิม จนสุดท้ายจึงเกิดเป็นภาวะสายตายาวขึ้น สังเกตง่ายๆ จากท่าทางในการอ่านหนังสือของผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยมักถือห่างออกไปไกลๆ และจะรู้สึกว่าดวงตาเมื่อยล้า เมื่อใช้สายตากับการมองสิ่งใกล้ๆ นานๆ และมักจะรู้สึกสบายตา หากได้อ่านหนังสือในช่วงเช้ามากกว่าช่วงเย็น

สาเหตุของสายตายาวมีอะไรบ้าง
  1. Micropthalmus เกิดจากการที่ลูกตามีขนาดเล็กเกินไป
  2. Flat Cornea คือ การมีกระจกตาค่อนข้างแบน
  3. พันธุกรรม (Heredity)
  4. สาเหตุอื่น ๆ
  • ผลจากการรักษาโรคตาชนิดอื่น เช่น การลอกต้อกระจกทำให้เกิดสภาวะไร้เลนส์ตา
  • ความผิดปกติในเด็กเล็กที่โครงสร้างลูกตาไม่เจริญพัฒนาอย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดความเสื่อมหรือพิการ กับอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการเพ่ง


สายตายาวมีอาการอย่างไร

อาการของผู้ที่มีภาวะสายตายาว สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1.Asthenopia อาการปวดหรือไม่สบายตา รวมไปถึงปวดศีรษะ ที่มีสาเหตุมาจากปัญหาสายตา โดยปกติคนสายตายาวมักจะมีอาการเหล่านี้ในภายหลังจากการใช้สายตาในระยะใกล้ๆ

สามารถแยกย่อยได้ดังนี้

  • ปวดศีรษะบริเวณกระบอกตา เป็นผลมาจาก ciliary muscles ที่มีการหดเกร็งตัวมาก
  • ปวดศีรษะบริเวณท้ายทอย เกิดจากการล้าของสมองส่วน occipital lobe ที่มองไม่ชัด
  • อาการน้ำตาไหล(tearing) เป็นผลกระทบจากการ accommodation เนื่องจากการหันตาเข้าของลูกตา
  • อาการแพ้แสง (Photophobia) เกิดจากภาวะที่มีแสงผ่านเข้ามาที่เรตินามากกว่าปกติ อันเป็นผลจากการมีลูกตาสั้นกว่าปกติของผู้ที่สายตายาว
  • อาการคลื่นไส้ (Nausea) เกิดจากการที่ดวงตาพยายาม accommodation เพื่อให้มองระยะใกล้ได้ชัดเจนขึ้น
  • อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า (General fatigue) ผลจากการ accommodation อย่างต่อเนื่องของดวงตา
  • อาการแสบเคืองตา (Smarting or other types of conjunctival irritation) เนื่องจากในขณะเกิดการ accommodation กล้ามเนื้อ ciliary muscles จะมีการบีบตัวอย่างมาก ส่งผลให้มีเลือดมาเลี้ยงที่กล้ามเนื้อมัดนี้มากกว่าปกติด้วย ทำให้เกิดอาการเลือดคั่ง (circulatory congestion) รวมถึงอาการเยื่อบุตาแดง อันเป็นผลมาจากเลือดออกที่เส้นเลือดใต้เยื่อบุตา ตามมา
2.Vision หมายถึง อาการมองเห็นไม่ชัด
  • ในรายที่สายตายาวไม่มากและยังพอที่จะทำการ accommodationได้อยู่ ผู้ป่วยจะมองในระยะไกลๆ ได้อย่างชัดเจน ส่วนในระยะใกล้นั้นก็ขึ้นกับประสิทธิภาพของการ accommodation ว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน เช่น ในกรณีของเด็กเล็กจะมีโอกาสเห็นได้ชัดมากกว่าในผู้ใหญ่ที่ความสามารถในการ accommodation ได้ลดลงไปตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น
  • ในกรณีที่เป็นมากๆ ผู้ป่วยจะไม่สามารถมองวัตถุได้ชัดเจนเลย แม้ในระยะไกลก็ตาม เพราะ accommodation ได้ไม่ดีพอ
  • การเห็นภาพไม่ชัดในระยะใกล้ เป็นอาการพื้นฐานของคนสายตายาว เนื่องจากการมองในระยะใกล้ ลูกตาจำเป็นต้องมีการ accommodation มากกว่าปกติ เพื่อให้ภาพมาโฟกัสที่จอประสาทตาพอดี ดังนั้นผู้ป่วยจึงเห็นภาพในระยะใกล้ไม่ชัด หากไม่สามารถ accommodation ได้อย่างเพียงพอ
  • ภาวะที่หลังจากการมองระยะใกล้ แล้วเงยหน้ามองระยะไกลเห็นภาพมัวก่อนที่จะชัด เป็นครั้งคราว

เกิดจากการที่กล้ามเนื้อ ciliary muscles คลายตัวไม่ทัน หลังจากมีการ accommodation มากกว่าปกติในขณะมองในระยะใกล้
  • ภาวะที่หลังจากมองระยะไกล แล้วเปลี่ยนมามองใกล้ ภาพที่เห็นจะมัวก่อน แล้วจึงชัดขึ้นในเวลาที่นานกว่าปกติ เป็นผลมาจากที่ดวงตาไม่สามารถเพิ่มกำลังของการ accommodation ได้ทัน ภาพที่ได้จึงมัวก่อนแล้วจึงค่อยๆชัด



ความผิดปกติทางตาอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นในคนสายตายาว
ต้อหิน (glaucoma)
ตาเข (strabismus)


การรักษาสายตายาว
1.แว่นสายตา: เลนส์ระดับเดียว เลนส์สองระดับ เลนส์ไล่ระดับ
  • แว่นที่มีเลนส์ระดับเดียว เหมาะสำหรับใช้ในการมองในระยะใกล้ๆ แต่ไม่เหมาะสมในการมองระยะไกลๆ หรือใช้ในขณะลุกเดินไปมา ในผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้นอยู่ก่อน สามารถใช้เลนส์ชนิดนี้ได้ แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นแว่นสำหรับสายตาสั้นเพื่อทำกิจกรรมอื่นที่จำเป็นต้องใช้สายตาระยะไกล
  • แว่นที่มีเลนส์สองระดับ หากมองจากภายนอก ลักษณะของเลนส์ชนิดนี้จะเห็นเป็นเลนส์สองแบบในชิ้นเดียวกัน เป็นชนิดที่ใช้ได้ทั้งการดูในระยะใกล้และไกล โดยเลนส์ส่วนบนจะใช้เมื่อต้องการดูภาพระยะไกลๆ แต่เมื่อต้องการมองระยะใกล้ก็ให้มองผ่านส่วนล่างของเลนส์แทน โดยปกติการใช้เลนส์ชนิดนี้ต้องอาศัยเวลาสักระยะในการฝึกมองเพื่อให้เกิดความคุ้นชิน
  • แว่นที่มีเลนส์ไล่ระดับ สามารถใช้ในการมองได้ในทุกระยะ ทั้งใกล้ กลาง และไกล แต่ลักษณะเลนส์จะดูเหมือนมีระดับเดียว ไม่มีรอยต่อให้เห็นเหมือนเลนส์สองระดับ สะดวกในการใช้มากขึ้นเพราะไม่ต้องเปลี่ยนแว่นไปมา แต่ก็ต้องอาศัยเวลาปรับสายตาเช่นกันเพื่อให้ชินกับการใช้งาน

การใช้แว่นสายตาในคนสายตายาว มีหลักการพิจารณาดังนี้
  • ในกรณีของเด็กเล็ก หากไม่มีอาการตาเหล่เข้า หรือเหล่ออกร่วมด้วย ก็อาจไม่จำเป็นต้องใส่แว่นก็ได้
  • ในผู้ใหญ่ที่มีปัญหาสายตายาว
  • โดยทั่วไปให้ใส่เลนส์บวกที่มากที่สุด ที่ยังสามารถทำให้มองเห็นตัวหนังสือแถวที่ 20/20 ที่ระยะ6 เมตรได้ จะได้ค่า Manifest hypermetropia.
  • ในผู้ป่วยที่เป็น Absolute hypermetropia แนะนำให้ใส่เลนส์บวกที่น้อยที่สุดที่ทําให้สามารถเห็นแถว 20/20 ได้
  • ในกรณีของเด็กที่มีปัญหาตาเหล่เข สามารถพิจารณาให้ใส่แว่นได้ ภายหลังจากการหยอดยา(Cycloplegic Refraction)
2.คอนแทคเลนส์ สามารถพิจารณาให้ใช้คอนแทคเลนส์ได้ในคนที่สายตายาวมาก เช่น ในกรณีของผู้ที่ไม่มีเลนส์ตา (aphakia)

3.การผ่าตัด
  • การทำเลสิค (LASIC) สามารถทำได้ในผู้ที่มีค่าสายตายาวในระดับที่ไม่มาก หรือปานกลางเท่านั้น ส่วนผู้ที่สายตายาวมากๆ การใช้เลนส์เสริมจะเหมาะสมกว่า
  • ใส่ IOL ในผู้ป่วยที่ไม่มีเลนส์ตา เป็นการนำเลนส์ชนิดพิเศษที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติ ไปใส่ไว้ในตาแบบถาวร ต่างกับคอนแทคเลนส์ที่มีการถอดเข้าออก โดยไม่มีการรบกวน หรือนำเลนส์ธรรมชาติออกจากตา



ยาที่ใช้ในการรักษาสายตายาว

ไม่มียาที่ใช้รักษาภาวะสายตายาว


สมุนไพรที่ใช้รักษาสายตายาว

ไม่มีสมุนไพรที่ใช้รักษาสายตายาว