วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2559

มะเร็งหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal carcinoma) คืออะไร


โพรงหลังจมูก (Nasopharynx) คือ ช่องว่างในบริเวณด้านหลังของรูจมูก ในส่วนบนสุดของคอหอย โดยเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างโพรงจมูกกับช่องคอหอย ซึ่งโพรงหลังจมูกนี้จะถูกหุ้มด้วยเนื้อเยื่อบุ มีลักษณะเป็นเยื่อเมือก ซึ่งเป็นบริเวณที่มักจะเกิดเป็นโรคมะเร็งขึ้น เนื่องจากมีระบบต่อมน้ำเหลืองที่เนื้อเยื่อเหล่านี้ในปริมาณมาก เป็นผลให้มะเร็งหลังโพรงจมูกสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองได้โดยง่าย ตั้งแต่ขณะที่ก้อนเนื้อยังเล็กมากๆ ขนาดที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าเลยทีเดียว และด้วยความที่มะเร็งชนิดอยู่ในตำแหน่งซ้อนเร้น ไม่สามารถตรวจพบได้โดยง่าย ส่งผลให้กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวถึงสิ่งผิดปกติ มะเร็งก็ได้แพร่กระจายไปมากแล้ว ทำให้ยากต่อการรักษา

เนื่องจากโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกไม่ได้ติด 1 ใน 10 อันดับของโรคมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย จึงทำให้โรคนี้ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ส่วนใหญ่โรคนี้พบมากในประเทศจีนทางตอนใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน แคนาดา อลาสกา ชาวเอสกิโมในกรีนแลนด์ ซึ่งเมื่อดูอุบัติการณ์ของโรคนี้จะพบว่าคนในประเทศจีนเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วโลกถึง 25 เท่า โดยพบในผู้ป่วยวัยหนุ่มสาวไปจนถึงวัยกลางคนเป็นส่วนใหญ่ และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2-3 เท่าเลยทีเดียว


สาเหตุของมะเร็งหลังโพรงจมูกมีอะไรบ้าง

มะเร็งโพรงจมูก


เช่นเดียวกับมะเร็งหลายๆ ชนิด สาเหตุของโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดในปัจจุบัน แต่ก็มีปัจจัยบางอย่าง ที่พบว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งชนิดนี้ได้ ได้แก่

1.สิ่งแวดล้อม

เนื่องจากมะเร็งหลังโพรงจมูกพบได้บ่อยๆ ในบางพื้นที่ของโลกเท่านั้น เช่น ทางใต้ของจีน อลาสก้า กรีนแลนด์ เป็นต้น จึงสามารถบ่งชี้ได้ว่าสิ่งแวดล้อมน่าจะมีผลต่อการเกิดโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอาหารที่คนเหล่านี้รับประทานเข้าไป จากผลการศึกษาพบว่าคนแถบนี้มักจะรับประทานอาหารจำพวกปลาเค็มและเนื้อเค็ม ซึ่งมักปนเปื้อนไปด้วยสารก่อมะเร็งที่ชื่อว่า”ไนโตรซามีน” นอกจากนี้พบว่าหากสูดดมสารก่อมะเร็งดังกล่าวเข้าไป อาจทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์เยื่อบุผิวของหลังโพรงจมูกที่สารนี้เข้าไปสัมผัสได้ จนสุดท้ายเกิดเป็นมะเร็งขึ้น
2.พันธุกรรม

จากการศึกษาอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกในทางระบาดวิทยา พบว่ามะเร็งชนิดนี้เป็นกันมากในคนจีนทางตอนใต้ และคนจีนที่ได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศอื่นๆ จึงเป็นข้อสนับสนุนของสันนิษฐานที่ว่าพันธุกรรมมีผลต่อการเป็นมะเร็งหลังโพรงจมูก
3.การติดเชื้อไวรัส Epstein-Barr Virus (EBV)

จากการศึกษาพบว่า มีผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูกจำนวนไม่น้อยที่มีประวัติเคยติดเชื้อไวรัส EBV มาก่อน

มะเร็งหลังโพรงจมูกมีอาการอย่างไร

มะเร็งโพรงจมูก อาการ

อาการของมะเร็งหลังโพรงจมูกจะไม่มีความเฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด โดยทั่วไปอาการจะไม่แตกต่างจากโรค ของระบบ หู คอ จมูก อื่นๆ

อาการที่สามารถพบได้มีดังนี้
  • มีเลือดออกทางจมูก

เป็นหนึ่งในอาการที่สามารถพบได้ในระยะเริ่มโรค โดยเป็นได้ในจมูกเพียงข้างเดียว หรือในจมูกทั้งสองข้าง ขึ้นกับว่าโรคเกิดที่ตำแหน่งใด และการมีเลือดปนกับน้ำมูกออกมาเพียงเล็กน้อยมักทำให้ผู้ป่วยไม่สนใจ คิดว่าเป็นเพียงอาการของไซนัสอักเสบเท่านั้น
คัดจมูก มีอาการคล้ายเป็นโรคหวัดหรือภูมิแพ้

เป็นอีกอาการที่สามารถพบได้ในระยะเริ่มของมะเร็งหลังโพรงจมูก โดยในช่วงแรกๆ ในขณะที่ก้อนเนื้อยังมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยมักจะคัดจมูกข้างเดียวอยู่บ่อยๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก้อนเนื้อโตมากขึ้น อาการจะเป็นทั้งสองข้างข้าง
  • ปัญหาในการฟัง หูอื้อ

อาการเหล่านี้สามารถพบได้ในระยะเริ่มของโรค และอาจเป็นเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างเช่นกัน โดยเกิดจากเซลล์มะเร็งได้ไปอุดตันในปากของหลอดหูชั้นกลางยูสเทเซียน ส่งผลให้ความสามารถในการฟังลดต่ำลง เกิดอาการหูอื้อ หูหนวกตามมา เนื่องจากเป็นอาการทั่วไปที่เกิดขึ้นได้ในโรคหูอื่นๆ ผู้ป่วยจึงมักจะถูกวินิจฉัยผิด และส่งผลเสียต่อการรักษา
  • ปวดศีรษะ และอาการทางประสาทหัวกระโหลก

เป็นอีกหนึ่งอาการที่พบได้ในระยะเริ่มต้น โดยทั่วไปอาการปวดศีรษะของผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูก จะเป็นเพียงข้างเดียว และมักจะมาเป็นพักๆ ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งอาการนี้จะมีความสัมพันธ์กับระบบโครงสร้างของมะเร็งที่ทำลายฐานกระโหลกศีรษะ ระบบประสาท และหลอดเลือด เมื่อมะเร็งรุกล้ำไปยังส่วนของเนื้อสมอง เส้นประสาทสมอง ผู้ป่วยมักจะปวดศีรษะบ่อยขึ้น เป็นลักษณะของอาการเรื้อรัง อาจเห็นภาพซ้อน ตามัว หน้าชา ตาเหล่ หนังตาตก ความรู้สึกของคอหอยลดลง อัมพาตของเพดานอ่อนในช่องปาก กลืนลำบาก เสียงแหบ กระดกลิ้นไม่ตรง เป็นต้น
  • ต่อมน้ำเหลืองโต

ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอของผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูกจะโตจนสามารถคลำได้ อาจโตได้มากถึง 10 เซนติเมตร โดยอาจโตเพียงต่อมเดียวหรือหลายต่อม และอาจเกิดเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างของลำคอก็ได้


การรักษามะเร็งหลังโพรงจมูก

วิธีรักษามะเร็งโพรงจมูก
วิธีการรักษามะเร็งหลังโพรงจมูกจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค สภาพร่างกาย ความพร้อมของตัวผู้ป่วย และปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย วิธีการการรักษา ได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี การให้ยาเคมีบำบัด และในบางรายอาจต้องใช้วิธีการรักษาหลายๆ อย่างร่วมกัน
1.การผ่าตัด

โดยทั่วไปการผ่าตัดจะไม่ใช่วิธีหลักในการรักษามะเร็งหลังโพรงจมูก เนื่องจากหลังโพรงจมูกเป็นบริเวณที่ยากต่อการผ่าตัด วิธีการผ่าตัดที่สามารถนำก้อนเนื้อออกได้ทั้งหมดจะเหมาะกับผู้ป่วยบางรายเท่านั้น ซึ่งต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะ

การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่คอ

เนื่องจากมะเร็งหลังโพรงจมูกจะตอบสนองได้ดีต่อการรักษาด้วยการฉายแสง และเคมีบำบัด ดังนั้นโดยทั่วไปเมื่อมะเร็งได้กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองแล้ว แพทย์จะใช้สองวิธีที่ว่ามาข้างต้นนี้ ส่วนการผ่าตัดนั้นอาจจะถูกใช้ได้ในกรณีที่ผู้ป่วยยังมีก้อนมะเร็งเหลืออยู่ในบริเวณต่อมน้ำเหลือง ภายหลังจากการได้รับเคมีบำบัดหรือได้รับการฉายแสงแล้ว

วิธีการผ่าตัดแบ่งได้ดังนี้
  • ผ่าตัดในเฉพาะบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่มีการลุกลาม หรือน่าจะมีการลุกลามของมะเร็ง ให้มากที่สุด
  • Modified radical neck dissection คือการผ่าเอาต่อมน้ำเหลืองข้างใดข้างหนึ่ง รวมทั้งเส้นประสาทและกล้ามเนื้อบางส่วนออก
  • Radical neck dissection คือการผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองข้างใดข้างหนึ่ง กล้ามเนื้อ เส้นประสาท รวมทั้งเส้นเลือดดำออก


2.การฉายรังสี

เนื่องจากผู้ป่วยมักจะมีการตอบสนองที่ดีต่อการฉายแสง ดังนั้นวิธีนี้จึงเป็นวิธีหลักในการรักษามะเร็งหลังโพรงจมูก ซึ่งเป็นการใช้อนุภาคพลังงานสูงฉายไปที่ก้อนมะเร็งและบริเวณต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงที่คอ เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง นอกจากการรักษาแล้ว การฉายรังสียังสามารถใช้เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย ทำได้โดยการฉายรังสีไปยังต่อมน้ำเหลืองที่น่าจะมีการแพร่กระจาย

การฉายรังสีมีหลายวิธี ดังนี้
  • External beam radiation therapy ฉายรังสีระยะไกลจากภายนอก
  • 3D-conformal radiation therapy การฉายรังสีแบบ3มิติ
  • Intensity-modulated radiation therapy (IMRT) การฉายรังสีแบบปรับความเข้ม
  • Stereotactic radiosurgery การฉายรังสีศัลยกรรม
  • Brachytherapy การฝังแร่


3.การให้ยาเคมีบำบัด

สามารถให้ยาได้โดยฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ หรืออาจให้เป็นยารับประทาน วิธีนี้จะเป็นประโยชน์ในกรณีที่เซลล์มะเร็งได้ลุกลาม แพร่กระจาย ออกไปนอกบริเวณศีรษะและลำคอ ยาเคมีบางชนิดได้ผลดีเมื่อใช้ร่วมกับการฉายแสง ดังนั้นในผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 2-4 แพทย์จึงมักใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสงเป็นหลัก หากมะเร็งมีการลุกลามไปปอด กระดูก หรือตับ อาจให้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียวก็ได้

วิธีการคือจะให้ยาเคมีเป็นรอบๆ และมีเวลาให้ผู้ป่วยได้เว้นช่วงเพื่อให้ร่างกายได้พักฟื้นในแต่ละรอบด้วย โดยทั่วไปจะให้ทุกๆ 3 หรือ 4 สัปดาห์ และไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ



ยาที่ใช้ในการรักษามะเร็งหลังโพรงจมูก

ในการรักษาโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกด้วยวิธีเคมีบำบัด โดยทั่วไปมักให้ยาเคมีร่วมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ดังนี้
  • Cisplatin
  • Carboplatin
  • 5-fluorouracil (5-FU)
  • Methotrexate
  • Paclitaxel
  • Docetaxel
  • Gemcitabine


สมุนไพรที่ใช้รักษามะเร็งหลังโพรงจมูก

เมื่อพ.ศ.2539 พระอาจารย์ประพนพัชร์ เจ้าอาวาสวัดคำประมง ท่านได้อาพาธด้วยโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก จึงได้คิดค้นสูตรยาสมุนไพรขึ้น แล้วได้ทดลองใช้ จนอาการอาการดีขึ้นมาเป็นลำดับ

ยาที่ว่านี้มี 2 สูตร ดังนี้
  • สูตรที่ 1 ยากินแก้มะเร็ง ซึ่งประกอบด้วยสมุนไพร 11 ชนิด ดังนี้
  1. หัวร้อยรู หนัก 50 กรัม
  2. ไม้สักหิน หนัก 50 กรัม
  3. ข้าวเย็นเหนือ หนัก 200 กรัม
  4. โกฐจุฬา หนัก 50 กรัม (ใช้ทั้งต้น)
  5. ข้าวเย็นใต้ หนัก 200 กรัม
  6. โกฐเชียง หนัก 50 กรัม
  7. กำแพงเจ็ดชั้น หนัก 50 กรัม
  8. เหงือกปลาหมอ หนัก 200 กรัม
  9. ผีหมอบ หนัก 100 กรัม
  10. หญ้าหนวดแมว หนัก 50 กรัม
  11. ทองพันชั่ง หนัก 200 กรัม (ใช้ทั้งต้น)


  • สูตรที่ 2 สูตรสมานฉันท์

ประกอบด้วยสมุนไพรทั้งหมด 10 ชนิด ดังนี้
  1. กำลังเสือโคร่ง หนัก 100 กรัม (ใช้เปลือกต้นไม้)
  2. ม้ากระทืบโรง หนัก 50 กรัม
  3. ช้างน้าว หนัก 40 กรัม (ใช้ส่วนของเปลือกและลำต้น)
  4. จ้อนเน่า หนัก 30 กรัม (ใช้ส่วนของเปลือกและลำต้น)
  5. ตะไคร้ต้น หนัก 30 กรัม (ใช้ส่วนของเปลือกและลำต้น)
  6. ขันทอง หนัก 30 กรัม (ใช้ส่วนของลำต้น)
  7. ย่านางแดง หนัก 30 กรัม (ใช้ทั้งต้น)
  8. ฝางแดง หนัก 30 กรัม (ใช้ส่วนของเปลือกและลำต้น)
  9. ฟ้าทะลายโจร หนัก 5 กรัม (ใช้ทั้งต้น)
  10. แฮ่ม หนัก 5 กรัม (ใช้ส่วนของเปลือกและลำต้น)

อย่างไรก็ตามคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการนำสูตรสมุนไพรที่ว่านี้ไปทำการศึกษาวิจัยจนได้ข้อสรุปว่า ยาสูตรนี้สามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งได้หลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งไขข้อ แม้ผลการศึกษาไม่ได้กล่าวถึงโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกแต่อย่างใด แต่นี่ก็เป็นอีกความหวังหนึ่งของผู้ป่วยโรคมะเร็งเลยทีเดียว