วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2559

มะเร็งช่องปาก (Oralcancer)คืออะไร



เมื่อเซลล์บริเวณใดเจริญพัฒนามากเกินอย่างผิดปกติ จนไม่สามารถควบคุม และเกิดเป็นเนื้อร้ายที่ส่งผลต่อเซลล์ปกติข้างเคียง เราจะเรียกเซลล์เหล่านั้นว่าเซลล์มะเร็ง ความปกตินี้เกิดขึ้นได้ทั่วทั้งร่างกาย ไม่เว้นแม้แต่ภายในช่องปาก (oral cavity)

มะเร็งช่องปาก


เนื่องจากเราต้องรับประทานอาหารและแปรงฟันกันทุกวัน ช่องปากจึงต้องสัมผัส เสียดสีกับสิ่งภายนอกเป็นประจำ เนื้อเยื่อหรือเซลล์ภายในช่องปากจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย โดยทุกส่วนของช่องปาก ไม่ว่าจะเป็น ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เหงือก ลิ้น รวมไปถึงเนื้อเยื่อใต้ลิ้น ล้วนไม่มีบริเวณใดเป็นข้อยกเว้นในการเกิดมะเร็ง และในทุกส่วนถูกจัดว่าเป็นมะเร็งกลุ่มเดียวกัน พิจารณาได้จากลักษณะของเซลล์มะเร็ง การจัดระยะโรค อาการ รวมไปถึงวิธีการรักษา ดังนั้นจึงถูกเรียกรวมๆ ว่า มะเร็งช่องปาก

เมื่อเปรียบเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น มะเร็งช่องปากพบได้ประมาณร้อยละ 3-5 เท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังอยู่ใน 1 ใน 10 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อยในวัยกลางคนของทั้งสองเพศ และอยู่1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบมากในเพศชาย โดยทั่วไปจะพบบ่อยในผู้ป่วยชายที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งอวัยวะที่พบบ่อยที่สุดคือลิ้น และที่พบน้อยสุดคือที่ต่อมน้ำลาย

การดำเนินโรคของมะเร็งช่องปาก แบ่งได้เป็น 4 ระยะ ตามขนาดของก้อนเนื้อ ดังนี้
  • ระยะที่ 1 : ก้อนมะเร็งมีขนาด ≤2 เซนติเมตร
  • ระยะที่ 2 : ก้อนมะเร็งมีขนาด >2 เซนติเมตร แต่ ≤4 เซนติเมตร
  • ระยะที่ 3 :มี2กรณี คือ
ก้อนมะเร็งมีขนาดตั้งแต่ ≥ 4 เซนติเมตร

มีการเจริญต่อลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง 1 ต่อม ขนาด≤3 เซนติเมตรและที่ลำคอเพียงข้างเดียว

  • ระยะที่ 4 :มี5กรณี คือ
ก้อนมะเร็งลุกลามออกนอกช่องปากไปยังอวัยวะใกล้เคียง
มีการเจริญต่อลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง 1 ต่อม ขนาด≥ 3 
เซนติเมตร
มีการเจริญต่อลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองมากกว่า 1 ต่อม
มีการเจริญต่อลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอทั้ง 2 ข้าง
มีการกระจายเข้าสู่กระแสเลือด ไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ กระดูก

***ในระยะที่ 3 และ 4 อาจมีเพียงกรณีเดียว หรือหลายๆ กรณีร่วมกันก็ได้

สาเหตุของมะเร็งช่องปากมีอะไรบ้าง

มะเร็งช่องปากเป็นอีกชนิดของมะเร็ง ที่วงการแพทย์ในปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่จากการศึกษาพบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ ดังนี้
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์

** จากการศึกษาพบว่า ผู้ใดที่ทั้งสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งช่องปากมากกว่าคนทั่วไปถึงประมาณ 15 เท่า และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยโรคนี้เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก่อน
  • การรับประทาน หรือเคี้ยว ของบางอย่างที่ปนเปื้อนไปด้วยสารก่อมะเร็ง เช่น หมาก พลู ยาฉุน ยาเส้น
  • เยื่อบุช่องปากมีการระคายเคือง

อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ฟันหักหรือฟันบิ่นที่แหลมคม แล้วปล่อยไว้โดยไม่ทำการรักษา ฟันผุจนเงือกเป็นหนอง ทำให้เกิดอาการอักเสบเรื้อรังและระคายเคืองซ้ำๆ นานๆ เป็นผลให้เซลล์มีการเปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นมะเร็ง และยังอาจเกิดจากการเสียดสีฟันปลอมที่ใส่ไม่พอดีก็เป็นไปได้
  • การติดเชื้อไวรัสHuman Papilloma virus(HPV)

เป็นเชื้อไวรัสสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก แต่ในกรณีของมะเร็งช่องปาก จะมีผลมาจากการทำ oral sex หรือการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก
  • ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งในบริเวณศีรษะและลำคอมาก่อน
  • ปัจจัยอื่นๆ เช่น สารเคมี ความร้อน รังสี การเสียดสีเรื้อรังของช่องปาก รวมไปถึงพันธุกรรม


มะเร็งช่องปากมีอาการอย่างไร

อาการมะเร็งช่องปาก
เช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ คือในระยะเริ่มแรกของมะเร็งช่องปาก มักจะไม่แสดงอาการความผิดปกติใดๆ ให้ได้รับรู้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะเริ่มมีอาการต่างๆ ปรากฏ ได้แก่
  • เจ็บที่ภายในช่องปาก เหงือก หรือริมฝีปาก โดยมักจะมีอาการเลือดออกผิดปกติ เนื่องจากแผลมะเร็งร่วมด้วย
  • แผลในช่องปากใช้เวลานานเกิน 2-3 สัปดาห์ขึ้นไปในการรักษา
  • มีก้อนเนื้อเป็นตุ่มๆ ที่บริเวณแก้มสามารถขยายใหญ่ขึ้นได้ โดยผู้ป่วยจะไม่รู้สึกถึงอาการเจ็บปวดใดๆ และจะรู้ว่ามีตุ่มก็ต่อเมื่อลิ้นไปโดนเข้า
  • บริเวณช่องปากเกิดอาการชา สูญเสียความรู้สึก
  • มีฝ้าสีขาว หรือสีแดง ที่ไม่สามารถขูดออกได้ ในบริเวณเยื่อบุช่องปาก และอาจมีที่ลิ้นร่วมด้วย
  • เคี้ยวลำบาก หรือไม่สามารถกลืนได้โดยง่ายเหมือนเดิม มักเกิดอาการเจ็บเนื่องจากแผลมะเร็ง หรือมีก้อนเนื้อไปอุดกั้น
  • อาการเจ็บที่ปาก หรือ การรู้สึกเหมือนบางอย่างติดคอ โดยไม่สามารถหาสาเหตุได้
  • ลักษณะแข็งเป็นไต ของขอบลิ้น หรือริมฝีปาก
  • การสบระหว่างฟันบนกับฟันล่างผิดปกติ เนื่องจากขากรรไกรบวม
  • เจ็บคอเรื้อรัง จนทำให้เสียงเปลี่ยนไป โดยมีอาการแหบขึ้น
  • ฟันมีปัญหา เนื่องจากก้อนเนื้อที่บริเวณเหงือก เพดาน หรือพื้นของปากส่งผลให้ฟันโยก หลุดได้ง่าย และไม่สามารถใส่ฟันปลอมได้
  • มีก้อนที่ลำคอ เนื่องจากมะเร็งได้ลุกลามไปทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวมโตขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถคลำได้ แต่มักไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ และสุดท้ายจะแตก กลายเป็นแผลในที่สุด
  • อาการตามอวัยวะอื่นๆ ที่มะเร็งได้แพร่กระจายไป

การรักษามะเร็งช่องปาก

วิธีรักษามะเร็งช่องปาก
หลังจากได้ทราบผลการวินิจฉัยเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเป็นโรคมะเร็งช่องปาก ทีมแพทย์และทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะร่วมกันวางแผน จนได้วิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดกับผู้ป่วยแต่ละคน โดยส่วนใหญ่มักจะเริ่มด้วยการผ่าตัด แล้วจึงตามด้วยการฉายรังสีและเคมีบำบัดรายละเอียดคร่าวๆ ของแต่ละวิธี มีดังนี้
1.การผ่าตัด

โดยทั่วไปแพทย์มักเลือกใช้ในผู้ป่วยรายที่มะเร็งอยู่ในระยะ 1 หรือ 2 รวมถึงในระยะ 3 ในกรณีที่ต่อมน้ำเหลืองยังมีขนาดเล็ก หลังจากผ่าตัดแล้วอาจมีการทำเคมีบำบัด หรือการฉายรังสีต่อได้ ขึ้นกับผลการตรวจทางพยาธิวิทยาของชิ้นเนื้อที่ถูกตัด
2.รังสีรักษา

การฉายรังสีเพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็งบริเวณช่องปากซึ่งสามารถใช้เป็นวิธีหลักในการรักษาเพียงอย่างเดียว หรืออาจร่วมกับการผ่าตัด และหรือเคมีบำบัด แล้วแต่กรณีไปในการฉายรังสีโดยทั่วไป มักใช้เวลาประมาณ6-7 สัปดาห์วันละ1 ครั้ง ติดต่อกันนานเป็นเวลา5 วันส่วนในการฝังแร่นั้น จะมีข้อบ่งชี้และข้อจำกัดมากกว่า ทำให้สามารถใช้ได้ในผู้ป่วยเพียงบางรายเท่านั้น
3.เคมีบำบัด

โดยทั่วไปแพทย์จะไม่ทำการรักษามะเร็งช่องปากด้วยยาเคมีเพียงอย่างเดียว แต่ในบางกรณีที่สภาพร่างกายผู้ป่วยไม่สามารถรับการผ่าตัดและการฉายรังสีได้ แพทย์จำเป็นต้องทำเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว โดยมักเป็นการรักษาแบบประคับประคองอาการเท่านั้น ไม่สามารถรักษาให้หายได้

ยาที่ใช้ในการรักษามะเร็งช่องปาก

ยาเคมีที่แพทย์นิยมเลือกใช้ ในการรักษามะเร็งช่องปากด้วยเคมีบำบัด มีดังนี้
  • Cisplatin
  • Carboplatin
  • 5-fluorouracil (5-FU)
  • Paclitaxel (Taxol®)
  • Docetaxel (Taxotere®)



ยาอื่นๆ ที่นำมาใช้ได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมนัก ได้แก่
  • Methotrexate
  • Ifosfamide (Ifex®)
  • Bleomycin

ยาเคมีเหล่านี้สามารถใช้เดี่ยวๆ เพียงชนิดเดียว หรือใช้ร่วมกันกับยาชนิดอื่นก็ได้ การใช้ร่วมกันของยาหลายๆ ชนิด ช่วยให้ประสิทธิภาพในการรักษาดีขึ้น แต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นก็จะมากตามไปด้วย โดยทั่วไปมักจะใช้cisplatin ร่วมกันกับ5-FU เพราะให้ประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์มะเร็งได้ดีกว่า นอกจากนี้การใช้cisplatin ร่วมกับ 5-FU และ plus docetaxel ก็เป็นที่นิยม เช่นเดียวกัน



สมุนไพรที่ใช้รักษามะเร็งช่องปาก

แม้จะมีการกล่าวอ้างมากมายจากในหลายๆช่องทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางอินเตอร์เน็ต เรื่องที่ว่าสมุนไพรสามารถรักษาโรคมะเร็งช่องปากได้ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานการศึกษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันใด ที่น่าเชื่อถือมากพอในคำกล่าวอ้างเหล่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่วงการแพทย์ทั่วโลกได้พิสูจน์ชัดเจนแล้วคือ การรักษาด้วยวิธีแผนปัจจุบันนั้นสามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดได้อย่างแน่นอน สำหรับข้อมูลที่ว่ามีผู้หายจากมะเร็งเพราะได้รับประทานยาสมุนไพรร่วมยาแผนปัจจุบันนั้น สมุนไพรอาจจะมีหรือไม่มีส่วนก็ไม่อาจทราบได้ แต่อย่างไรก็ตามการใช้สมุนไพรก็ไม่ได้แย่เสมอไป เพราะมักจะทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจดี มีความหวังมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยดีขึ้น ดังนั้นจึงเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยในทางอ้อม