วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

โรคอัมพาต (Paralysis) คืออะไร


เมื่อได้ยินใครก็ตามพูดถึงโรคอัมพาต หลายคนคงจะนึกถึงภาพคนป่วยที่ต้องทนนอนอยู่บนเตียง มีสภาพที่เราเรียกกันง่ายๆว่าเป็นผัก เดินไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องมีคนคอยดูแลตลอดเวลา หรือแม้กระทั่งนึกไปถึงภาพจากในละครที่ผู้ป่วยที่มีสติครบถ้วนแต่ไม่สามารถสื่อสารสิ่งที่ตนเองต้องการออกมาได้ จริงๆแล้วโรคนี้คืออะไรกันแน่ เราจะมาทำความรู้จักโรคนี้กัน

อัมพาต

อัมพาตหมายถึงภาวะที่ร่างกายสูญเสียการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้ผู้ป่วยไม่มีแรง ไม่สามารถขยับได้ ส่วนใหญ่มักหมายถึงแขนขา คือแขนขาไม่มีแรง และอาจรวมถึงการสูญเสียการรับรู้ของแขนขา
ถ้าอธิบายตามรากศัพท์ “Paralysis” มาจากคำภาษากรีก หมายถึงการสูญเสียการทำงานของเส้นประสาท แม้ว่าจะแสดงอาการให้เห็นว่ากล้ามเนื้ออ่อนแรง แต่จริงๆแล้วตัวโรคเองนั้นไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อ แต่มักจะเกิดจากการที่ระบบประสาทได้รับความเสียหาย

อัมพาต กับ อัมพฤกษ์ ต่างกันหรือไม่???
เนื่องด้วยความไม่รู้ของคนทั่วไป ทำให้เกิดการสับสนและใช้แทนกัน ใช้รวมกันจนเป็นเรื่องปกติระหว่างคำสองคำนี้ จริงๆแล้วสองโรคนี้ต่างกันอย่างไร เรามาดูความแตกต่างระหว่างโรคอัมพฤกษ์และโรคอัมพาตกัน

อัมพฤกษ์

ภาวะอ่อนแรงของอวัยวะต่างๆ อาจมีอาการชาร่วมด้วย ซึ่งการอ่อนแรงนี้ผู้ป่วยจะยังมีแรงเพียงพอที่จะสามารถขยับได้บ้าง แต่การขยับจะไม่ปกติหรือมีการผิดรูปแบบไป โดยสามารถเกิดได้หลายรูปแบบ เช่น อ่อนแรงทั้งตัวแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกซ้ายหรือขวา อ่อนแรงครึ่งท่อนล่าง หรือเฉพาะแขนหรือขาเพียงข้างเดียวก็สามารถเกิดได้

อัมพาต

การอ่อนแรงของร่างกายในรูปแบบที่คล้ายกับอัมพฤกษ์โดยทวีรุนแรงมากกว่า คือผู้ป่วยจะไม่มีแรงเพียงพอที่จะสามารถขยับได้เลย อธิบายง่ายๆโดยเปรียบเทียบแรงของผู้ป่วยเป็นคะแนน ถ้าคนปกติมีคะแนนเต็มที่ 5 คะแนน ผู้ป่วยอัมพฤกษ์จะมีคะแนนอยู่ระหว่าง 1 ถึง 4 คะแนน ซึ่งยังพอมีแรงเหลืออยู่บ้าง แต่ในผู้ป่วยอัมพาตนั้นคะแนนจะเป็น 0 เลยทีเดียว

อัมพาตเกิดจากอะไร

อัมพาตสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ
  • การอุดตันของหลอดเลือดสมอง (Stroke)
  • การได้รับบาดเจ็บ (Trauma)
  • โรคโปลิโอ (Poliomyelitis)
  • โรคสมองพิการ (Cerebral palsy)
  • โรคเส้นประสาท (Peripheral Neuropathy)
  • โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
  • โรคโบทูลิซึม (Botulism)
  • ภาวะความบกพร่องของกระดูกสันหลัง (Spina bifida)
  • โรคเส้นประสาทหลายเส้นอักเสบเฉียบพลัน (Guillain Barre’syndrome)
  • โรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple sclerosis)
ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะสาเหตุหลักของโรคเท่านั้น ซึ่งก็คือการที่สมองขาดเลือด มักเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดสมองเป็นหลัก โดยปกติร่างกายของเราจะสั่งการโดยสมอง ผ่านไปยังเส้นประสาททั่วร่างกายเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ เมื่อเส้นประสาทบริเวณไหนได้รับความเสียหายก็จะทำให้ร่างกายส่วนนั้นมีปัญหาตามไปด้วย เมื่อสมองซึ่งเป็นศูนย์สั่งการได้รับความเสียหายก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าหลอดเลือดที่สมองจะตีบ อุดตัน หรือแตกก็ส่งผลให้เป็นอัมพาตได้ทั้งนั้น

หลอดเลือดอุดตันได้อย่างไร

เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น บวกกับการที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือในคนที่แข็งแรงไม่มีโรคประจำตัวก็ตาม ที่บริเวณผนังหลอดเลือดจะมีไขมันมาเกาะ ซึ่งไขมันเหล่านั้นจะพอกสะสมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆตามระยะเวลาที่ผ่านไป และยังมีพวกเม็ดเลือด รวมถึงสารอื่นๆมาร่วมกันพอกหนาขึ้นๆเป็นลิ่มเลือด จนสุดท้ายอยู่มาวันหนึ่ง ลิ่มเลือดนั้นเกิดหลุดแล้วก็ล่องลอยไปตามกระแสเลือด ถ้าลอยอยู่เฉยๆคงจะไม่มีปัญหาอะไรตามมา แต่มันดันไปอุดในหลอดเลือดที่เล็กกว่าเข้า จึงทำให้เกิดปัญหาตามมา โดยความจริงลิ่มเลือดนี่สามารถไปอุดได้หลายที่ซึ่งปัญหาที่จะตามมาก็จะแตกต่างกันไป เช่น ในหัวใจก็จะทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด แต่ในกรณีของโรคอัมพาตและโรคอัมพฤกษ์นั้นจะเกิดจากการที่ลิ่มเลือดที่ว่านี้ไปอุดตันที่สมองนั่นเอง

อาการของโรคอัมพาตเป็นอย่างไร

อาการโรคอัมพาต
อาการจะเกิดโดยเฉียบพลัน ไม่ใช่แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่กินเวลาเป็นวันหรือเป็นเดือน เช่น อยู่ๆก็เกิดอาการแขนขาอ่อนแรง ขยับไม่ได้ขึ้นมาโดยไม่มีสัญญาณแจ้งเตือนล่วงหน้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเพียงซีกเดียวของร่างกาย เช่นแขนขวาและขาขวาหรือแขนซ้ายกับขาซ้าย บางรายอาจจะไม่ได้เป็นทั้งแขนแต่เป็นแค่มือ ซึ่งผู้ป่วยจะถือของไม่ได้ กำมือแน่นไม่ได้ และในบางรายอาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วยเช่น หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ดื่มน้ำแล้วน้ำไหลออกจากปาก ถ้าเป็นมากอาจจะมีอาการเดินเซ ปวดศีรษะ อาเจียน งุนงง สับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง หรือแม้กระทั่งหมดสติได้

โรคอัมพาตสามารถป้องกันได้อย่างไร
ถ้ามองในแง่ของโรคที่เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดสมอง การจะป้องกันโรคนี้ได้นั้นจะต้องเริ่มใสใจดูแลสุขภาพกันตั้งแต่วัยที่ยังไม่สูงอายุ โดยป้องกันตัวเองจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และที่สำคัญควรหมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ถ้าเจอโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ก็ต้องรีบเข้ารับการรักษา ควบคุมให้ดี เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคได้แล้ว


โรคอัมพาตรักษาอย่างไร
การรักษาโรคอัมพาต


การรักษาเน้นไปที่การรักษาโดยการบำบัดและการช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้โดยพึ่งผู้อื่นให้น้อยที่สุด สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้ คือ กำลังใจ ความเชื่อมั่นของตัวผู้ป่วย และทักษะความเชี่ยวชาญของนักกายภาพบำบัด

ในผู้ป่วยอัมพาตที่เกิดจากการที่หลอดเลือดสมองอุดตัน เมื่อเกิดอาการที่น่าสงสัยว่าเป็นโรค ให้รีบมาที่โรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาให้เร็วที่สุด เวลาต่างกันเพียงชั่วโมงก็ส่งผลต่อการรักษา แต่ถ้าหลอดเลือดเกิดการแตกขึ้นมา สิ่งที่ทำได้ในการรักษาคือการประคับประคอง ดูอาการไปเรื่อยๆ และป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา

โรคแทรกซ้อนที่มักเกิดร่วมกับการเป็นอัมพาต
โรคแทรกซ้อนที่เจอบ่อย ๆ ในขณะที่เป็นอัมพาตคือ โรคติดเชื้อ การที่ผู้ป่วยนอนนานๆ จะส่งผลให้มีโอกาสเป็นปอดบวม ปอดอักเสบ หรือติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และการที่นอนนาน ๆ โดยไม่ได้พลิกตัวอย่างถูกต้องนั้นยังส่งผลให้มีโอกาสเกิดแผลกดทับ และมีการติดเชื้อตามมา

ในกรณีของผู้ป่วยอัมพาตชั่วคราว กล้ามเนื้อจะค่อยๆอ่อนแรงไป แต่จะสามารถกลับมามีแรงเหมือนเดิมได้ถ้าได้รับการบำบัดที่ถูกต้อง สิ่งสำคัญคือแขนขาต้องถูกจัดวางในท่าที่เหมาะสมและต้องมีการเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ในการรักษาต้องดูทั้งตัว ไม่ใช่เฉพาะส่วนที่เป็นอัมพาตเท่านั้น โดยต้องจัดร่างกายของผู้ป่วยให้อยู่ในท่าที่ถูกต้องเมื่อนอนบนเตียงหรือนั่งเก้าอี้ และทุกครั้งที่ทำการเคลื่อนตัวผู้ป่วยต้องทำให้เป็นแบบแผน ส่วนการเดินนั้นต้องรอเป็นขั้นสุดท้ายจนกว่าตัวผู้ป่วยจะสามารถทรงตัวได้ดีขึ้น สำหรับระยะเวลาที่ใช้ในการรักษานั้นไม่มีความแน่นอน แล้วแต่สถานการณ์ของผู้ป่วยแต่ละคน ในรายที่เป็นไม่มากอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เวลายาวนานมากนักในการทำกายภาพบำบัด แต่ถ้าบางรายที่เป็นมากก็อาจจะจำเป็นต้องทำสักระยะหนึ่ง บางทีอาจจะเป็นเดือน แต่โดยทั่วไปแล้วนั้นการเป็นอัมพาตมักจะต้องรักษาไปตลอดชีวิต เพราะว่าเป็นโรคที่มีความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้

ในกรณีของผู้ป่วยอัมพาตถาวรนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษา ทำได้เพียงช่วยเหลือผู้ป่วยให้สามารถพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุดโดยใช้อุปกรณ์เสริมพิเศษต่างๆ เช่น วีลแชร์

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรคำนึงถึงคือปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วย เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่ไม่มีความแน่นอนและชัดเจนในผลการรักษามากนัก ในบางรายก็ทำได้แค่เพียงรักษาประคับประคองกันไปตามอาการ ดังนั้นผู้ป่วยบางรายอาจจะเกิดภาวะซึมเศร้า รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระของคนอื่น เลยไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา ดังนั้นบุคคลใกล้ชิดควรทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ พยายามให้กำลังใจผู้ป่วยสม่ำเสมอ โดยต้องไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าและหมดกำลังใจในการทำการรักษา


ยาที่ใช้ในการรักษาโรคอัมพาต

ในการแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่มียาตัวใดที่สามารถใช้รักษาโรคอัมพาตได้โดยตรง แต่ในกรณีของผู้ป่วยที่มาด้วยอาการของโรคหลอดเลือดสมองตีบ ยาละลายลิ่มเลือดจะมีส่วนช่วยได้ การให้ยาแอสไพรินสามารถช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดมีอาการตีบตันมากยิ่งขึ้น ป้องกันไม่ให้เกิดอาการมากขึ้น ทั้งนี้ได้มีผลการศึกษาที่ชัดเจนระบุว่า ยิ่งได้รับยาเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี


สมุนไพรที่ใช้รักษาโรคอัมพาต
  • สมุนไพรคำฝอย
  • สมุนไพรดีปลี
  • สมุนไพรปลาไหลเผือก