วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์(Rheumatoid Arthritis)


โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง ที่มีลักษณะสำคัญคือ มีการอักเสบบริเวณข้อต่อ (Peripheral joint) หลายๆข้อ ทั้งสองข้างของร่างกายอย่างสมมาตร (Symmetrical polyarthritis) การอักเสบเรื้อรังที่เกิดขึ้น จะทำให้เกิดการหนาตัวของเยื่อบุข้อ นำไปสู่การทำลายกระดูกอ่อนและข้อ มีการกัดกร่อนของกระดูก (Bone erosion) ทำให้เนื้อเยื่อรอบๆข้อ มีการเปลี่ยนแปลง ทำงานผิดปกติไป เกิดอาการข้อผิดรูป (Deformity) ไปจนถึงข้อพิการสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงานในที่สุด โดยเฉพาะในรายที่ได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง หรือโรคมีความรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษา

สาเหตุของการเกิดโรค

โรครูมาตอยด์


จากรายงานการศึกษาวิจัยต่างๆ พบว่า โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง (Autoimmune disease) คือ ระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายถูกกระตุ้นให้ผลิตแอนติบอดีขึ้นมาทำร้ายเนื้อเยื่อของร่างกายด้วยกันเอง จนทำให้เนื้อเยื่อปกติเกิดการอักเสบเกิดขึ้น แต่ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าอะไรที่เป็นสาเหตุหลักทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติไป ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้ ได้แก่ พันธุกรรม ฮอร์โมน และสิ่งแวดล้อม เช่น การสูบบุหรี่ การติดเชื้อ เป็นต้น


อาการและอาการแสดง

อาการโรครูมาตอยด์
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่เป็นกับหลายๆข้อ ส่วนใหญ่อาการมักเริ่มต้นช้าๆ ด้วยอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วๆไป หรือไม่ค่อยมีแรงโดยอาจจะไม่เจ็บข้อ หลังจากนั้นจะมีอาการข้ออักเสบที่ชัดเจนขึ้น คือ มีข้อบวม เจ็บ มักเป็นกับข้อมือ ข้อโคนนิ้วมือ ข้อนิ้วมือ เข่า และเท้า โดยมักเป็นกับข้อทั้งสองข้าง

อาการแสดงของผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1. อาการแสดงทางข้อ (Articular manifestation)
ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการข้อบวมและกดเจ็บ อาการเจ็บเพิ่มขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อ มีอาการข้อฝืดตึง ซึ่งจะพบเป็นบ่อยในช่วงเช้า ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด รู้สึกมีไข้ต่ำๆ การอักเสบของข้อทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวน้อยลง เป็นสาเหตุทำให้ข้อติดและเสียประสิทธิภาพในการใช้งานของข้อได้ ข้อที่มักมีการอักเสบบ่อยในโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ คือ ข้อนิ้วมือ (Proximal interphalangeal) และข้อโคนนิ้วมือ (Metacarpophalangeal)

2. อาการแสดงนอกข้อ (Extra-articular manifestation)
โดยทั่วไปอาการแสดงนอกข้อมักพบในผู้ป่วยที่มีออโตแอนติบอดี รูมาตอยด์แฟกเตอร์ (Rheumatoid Factor หรือที่เขียนตัวย่อว่า RF) และ anti-CCP ในระดับที่สูง อาการแสดงเหล่านี้ได้แก่ การเกิดปุ่มเนื้อที่เรียกว่า Rheumatoid nodules ซึ่งเป็นปุ่มเนื้อที่เกิดจากการรวมตัวของเม็ดเลือดขาวชนิด Macrophage โดย สามารถที่จะเกิดขึ้นในเนื้อเยื่อชนิดใดและอวัยวะใดก็ได้ เช่น เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มสมอง แต่ตำแหน่งที่สามารถพบได้บ่อยคือ เนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนัง ที่อยู่บริเวณปลายแขน ศรีษะด้านหลัง และเส้นเอ็นที่ปลายขา


อาการแสดงนอกข้ออื่นๆที่อาจพบได้ มีดังนี้

• อาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือด อาจพบเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ผู้ป่วยส่วนมากจะไม่มีอาการใดๆ แต่มีบางรายพบมีการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจแบบเรื้อรัง นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีอุบัติการณ์ของภาวะหัวใจล้มเหลว และมีอัตราการตายที่สูงขึ้น

• อาการทางระบบประสาท อาจพบอาการปลายประสาทอักเสบ โดยเฉพาะชนิด mononeuritis multiplex จากกระบวนการอักเสบของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาท นอกจากนี้อาจพบมีเส้นประสาทถูกกดทับ หรืออาการทางระบบประสาทจากกระดูกสันหลังส่วนคอ (C1-C2) เคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง

• อาการทางตา อาจพบตาแห้ง กระจกตาอักเสบ ซึ่งหากรุนแรงอาจจะทำให้เปลือกลูกตาบางและทะลุได้

• อาการทางระบบโลหิต อาจพบภาวะซีดจากการอักเสบเรื้อรัง นอกจากนี้อาจพบ Felty’s syndrome คือ ผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์ร่วมกับมีม้ามโตและเม็ดเลือดขาวต่ำ มักจะพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มานาน

• อาการโรคกระดูกพรุน พบได้บ่อยทั้งจากการอักเสบเรื้อรังของโรคเอง และจากยาสเตียรอยด์ที่ใช้ในการรักษา ทำให้มีการสูญเสียมวลกระดูก มีความเสี่ยงต่อกระดูกหักเพิ่มขึ้น

การวินิจฉัย
การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ให้ได้เร็ว เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ ป้องกันการทำลายกระดูกและข้อ ในระยะแรกที่ผู้ป่วยเริ่มเป็นโรคมักมีแสดงอาการไม่ชัดเจน การวินิจฉัยแยกโรคทำได้ยาก แพทย์ต้องใช้ข้อมูลหลายอย่างประกอบกันทั้งผลการตรวจร่างกาย การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจทางรังสี จนกระทั่งในปี 1998 กลุ่มแพทย์โรคข้อในประเทศสหรัฐอเมริกา The American Rheumatism Association ได้พัฒนาเกณฑ์สำหรับการวินิจฉัยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ขึ้น
โดยผู้ป่วยจะต้องมีอาการตามเกณฑ์การวินิจฉัยอย่างน้อย 4 ข้อ จากทั้งหมด 7 ข้อ โดยข้อที่ 1 – 4 ต้องเป็นมานานอย่างน้อย 6 สัปดาห์

1. ข้อฝืดตึงตอนเช้า นานกว่า 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ในโรคข้ออักเสบทั่วไป ไม่เฉพาะโรค
2. มีอาการข้ออักเสบจากการตรวจร่างกาย ตั้งแต่ 3 ข้อขึ้นไป โดยมีอาการบวมของข้อมือร่วมด้วย
3. มีอาการข้อนิ้วมือ หรือข้อมืออักเสบอย่างน้อย 1 ข้อ
4. มีอาการข้ออักเสบแบบสมมาตร (symmetrical arthritis) คือมีการอักเสบของทั้ง 2 ด้านของร่างกาย ข้างซ้ายและข้างขวาเหมือนกัน และเป็นพร้อมๆกัน
5. ตรวจพบมีปุ่มเนื้อที่เรียกว่า Rheumatoid nodules
6. การตรวจทางห้องปฏิบัติการพบสารรูมาตอยด์แฟกเตอร์ (RF) ระดับสูงๆในเลือด แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจพบรูมาตอยด์แฟกเตอร์เพียงอย่างเดียวไม่ได้จำเพาะกับโรคนี้ แพทย์จะต้องพิจารณาผลการตรวจอย่างรอบคอบ เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์บางรายอาจตรวจไม่พบรูมาตอยด์แฟกเตอร์ก็ได้ ในทางตรงกันข้าม คนปกติที่ไม่ได้เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ก็สามารถตรวจพบรูมาตอยด์แฟกเตอร์ได้เหมือนกัน แต่มักจะเป็นระดับต่ำๆ ดังนั้น การแปลผลตรวจเลือดจำเป็นต้องใช้ร่วมกับอาการและการตรวจข้อ
7. การตรวจเอ็กเรย์กระดูก พบความผิดปกติของกระดูกบริเวณรอบๆข้อ

รูมาตอยด์ที่เท้า

การรักษารูมาตอยด์

วิธีรักษาโรครูมาตอยด์
เนื่องจากสาเหตุและพยาธิกำเนิดของโรคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด การรักษาจึงยังไม่มีวิธีที่จะทำให้โรคหายขาดได้ เป้าหมายในการรักษาโรคนี้จึงเป็นไปเพื่อลดอาการปวดและการอักเสบของข้อ ป้องกันการทำลายข้อและกระดูก ทำให้ข้อใช้งานได้ ควบคุมการแสดงอาการนอกข้อไม่ให้ลุกลามเป็นอันตรายต่อชีวิต ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถทำงานหรือทำกิจวัตรประจำวันได้โดยไม่ลำบาก
วิธีการรักษาต้องทำพร้อมกันหลายด้าน ทั้งการให้ยา ให้ความรู้ คำแนะนำและการให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย ตลอดจนการฟื้นฟูสมรรถภาพของข้อ ยาหลักที่ใช้ในการักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
• ยาต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory agent) ได้แก่ NSAID ซึ่งเป็นยาระงับอาการปวดและลดการอักเสบของข้อ
• ยาต้านรูมาติซั่ม (Disease-modifying anti-rheumatic drugs (DMARADs) เป็นยากลุ่มที่ช่วยในการปรับเปลี่ยนการทำงานของเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ช่วยทำให้โรคค่อยๆสงบลง จนสามารถหยุดยาต้านการอักเสบ (NSAID) ได้
• ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือที่เรียกสั้นๆว่า ยาสเตียรอยด์
• ยากลุ่มสารชีวภาพ (Biologic agents) เป็นยาที่ใช้สำหรับการรักษาแบบจำเพาะจุด เพราะไปออกฤทธิ์โดยตรงกับสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบของข้อที่หลั่งออกมาในผู้ป่วย เช่น สารที่เรียกว่า anti-TNF, anti-IL1 และ anti-IL6
การรักษาด้วยการผ่าตัด ถือเป็นวิธีการรักษาที่สำคัญอีกวิธีหนึ่ง โดยเฉพาะในผู้ป่วยบางรายที่มีข้อถูกทำลายมาจนผิดรูป หรือกรณีผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง
ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร?
1. ทำใจยอมรับ เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรค
2. ปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับโรค ดังนี้
• การใช้ข้ออย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการยกของหนักและใช้ข้อเล็กๆของนิ้วมือ
• หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ
• ออกกำลังกายและบริหารร่างกายอย่างพอเพียง
3. หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบ เช่น ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ อากาศเย็น และภาวะติดเชื้อ
4. ให้ความร่วมมือกับแพทย์เกี่ยวกับวิธีการรักษา
5. หากสนใจการรักษากับแพทย์ทางเลือกควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการรักษาอยู่ก่อน