วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

วัณโรค (Tuberculosis) คืออะไร

เมื่อกล่าวถึงแบคทีเรีย เราก็คงจะนึกถึงสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมากๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ รวมถึงในร่างกายของคนเรา ถึงแม้ว่าแบคทีเรียส่วนใหญ่จะไม่ได้มีอันตรายอะไร บางชนิดยังมีประโยชน์ต่อร่างกายเราเสียด้วยซ้ำ แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า มีโรคติดเชื้อจำนวนไม่น้อยที่มีแบคทีเรียเป็นสาเหตุก่อโรค และวัณโรคก็เป็นหนึ่งในนั้น

วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) หรือที่ในวงการแพทย์จะเรียกย่อๆ ว่า TB เป็นโรคที่พบได้ทั่วไปทั้งในเมืองและตามชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยในแหล่งชุมชนแออัด โรคนี้สามารถพบได้ในเด็ก ผู้สูงอายุ คนที่มีร่างกายอ่อนแอ โดยเฉพาะในผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งมีปัญหาเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งการเพิ่มอัตราการติดเชื้อ HIV ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคเอดส์นี้เอง ส่งผลให้วัณโรคที่เคยถูกควบคุมจนสามารถลดจำนวนไปมาก กลับมีการแพร่กระจายมากขึ้น และเนื่องด้วยอัตราโรคเอดส์ที่สูงกว่าของประเทศกำลังพัฒนา ทำให้อัตราการติดเชื้อวัณโรคเพิ่มจำนวนสูงตามไปด้วยในประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะในแถบเอเชียและแอฟริกา

วัณโรค



สาเหตุของวัณโรคมีอะไรบ้าง

นอกจากไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส จะเป็นเชื้อแบคทีเรียสาเหตุหลักที่ก่อวัณโรคในผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่แล้ว ยังมีเชื้อแบคทีเรียอื่นอีก เช่น M. africanum และ M. bovis ที่สามารถก่อโรคนี้ได้เช่นกัน

วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่สามารถแพร่ไปสู่บุคคลรอบข้างได้โดยตัวเชื้อโรคจะปนไปกับละอองฝอย ที่เกิดจากการไอหรือจามของผู้ป่วย โดยปกติเชื้อวัณโรคที่อยู่ในละอองนี้สามารถทนอยู่ในอากาศและสิ่งแวดล้อมได้นาน และสามารถถูกทำลายโดยแสงแดด แต่ละอองนี้ก็อาจถูกคนใกล้ชิดผู้ป่วยสูดเข้าไป และส่งผลให้ติดเชื้อได้ การแพร่เชื้อโดยทั่วไปจะอยู่ในช่วงก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับยารักษาวัณโรค แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาแล้ว 2-3 สัปดาห์ ก็มีอาการดีขึ้น ไอน้อยลง จำนวนเชื้อก็ลดลง เป็นผลทำให้การแพร่เชื้อของผู้ป่วยลดลงตามไปด้วย และเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของการรักษา ผู้ป่วยวัณโรคจึงควรถูกแยกไว้ในสถานที่ซึ่งไม่สามารถแพร่เชื้อได้


วัณโรคมีอาการอย่างไร

อาการโรควัณโรค
อาการของวัณโรคสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
1.อาการทั่วไป

เป็นอาการที่สามารถเกิดได้กับผู้ป่วยวัณโรคทุกอวัยวะ เมื่อเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น จะไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าผู้ป่วยเป็นวัณโรคที่ตำแหน่งไหน เป็นอาการที่ผู้ป่วยวัณโรคทุกคนสามารถมีได้โดยคล้ายคลึงกัน ได้แก่ ไข้ต่ำๆ ในเวลาบ่าย หรือในช่วงหัวค่ำ (ประมาณ 21 % ของผู้ป่วยไม่พบอาการไข้ และโดยทั่วไปหลังจากได้รับยาวัณโรคแล้ว อาการไข้มักจะลดลงภายในเวลาโดยเฉลี่ย 10 วัน) อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง ครั่นเนื้อครั่นตัว เหงื่อออกมากในเวลากลางคืน ผิวหนังซีดเหลือง เม็ดเลือดขาวอาจจะปกติ สูงหรือต่ำก็ได้ และอาจจะพบภาวะซีด โลหิตจางได้ด้วยในผู้ป่วยรายที่เป็นมานาน
2.อาการเฉพาะที่

เป็นอาการของวัณโรคที่เฉพาะเจาะจง มีความหลากหลายขึ้นอยู่กับอวัยวะที่เชื้อเข้าไปลุกลาม โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้
    วัณโรคปอด ส่วนใหญ่เป็นชนิดเรื้อรัง โดยอาจเกิดที่ปอดข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างก็ได้ ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำๆ ไอแห้งๆ ในตอนเริ่มแรก ต่อมาภายหลังจึงเริ่มไอมีเสมหะ หรืออาจมีเลือดสดๆปนออกมาด้วย เพราะเนื้อปอดของผู้ป่วยได้ถูกทำลายไปไม่น้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีอาการแน่น เจ็บหน้าอก เจ็บที่ชายโครงซึ่งเป็นสัญญาณของเยื่อหุ้มปอดอักเสบ เหนื่อยหอบ และสุดท้ายอาจมีเลือดหรือหนองท่วมปอดตามมาได้
      วัณโรคต่อมน้ำเหลืองวัณโรคชนิดนี้ถูกเรียกโดยคนทั่วไปว่า “ฝีประคำร้อย” มีอาการเริ่มต้นคือ ต่อมน้ำเหลืองที่ขากรรไกรโต จากนั้นลุกลามมาตามคอจนถึงต่อมน้ำเหลืองด้านล่างบริเวณไหปลาร้าและรักแร้ ต่อมาต่อมน้ำเหลืองจะบวมใกล้ๆกันจนเป็นกลุ่มๆ จนสุดท้ายเกิดเป็นแผลเรื้อรังขึ้นมาเนื่องจากฝีแตก ส่งผลทำให้ยากต่อการรักษา ถ้าเป็นวัณโรคชนิดนี้ในบริเวณขั้วปอดอาจจะไม่มีอาการ หรืออาจจะมีอาการทางปอดได้ หากต่อมน้ำเหลืองที่บวมโตมีการไปกดที่หลอดลมเข้า
        วัณโรคลำไส้ อาการโดยทั่วไปคือท้องผูกสลับกันกับท้องเดิน ถ้าคลำดูบริเวณท้องอาจพบก้อนแข็งๆ บวมโตในช่องท้อง และอาจมีอาการท้องโตเนื่องจากมีน้ำในช่องท้อง หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า โรคท้องมาน
          วัณโรคกระดูก โดยส่วนใหญ่เกิดที่บริเวณข้อเข่าและกระดูกสันหลัง ซึ่งเชื้อวัณโรคชนิดนี้จะผ่านทางกระแสเลือดจากนั้นจึงลุกลามเข้ามาทำอันตรายกระดูกและข้อต่อ โดยถ้าปล่อยไว้เป็นเวลานานๆ ก็จะคล้ายกันกับกรณีของวัณโรคต่อมน้ำเหลือง คือ เกิดเป็นแผลเรื้อรัง เนื่องจากกระดูกที่ถูกทำลายจะแตกได้
            วัณโรคผิวหนัง ในตอนเริ่มแรกจะมีเพียงก้อนที่อ่อนนุ่มขนาดเล็กๆขึ้นมาบนผิวหนัง เมื่อเวลาผ่านไปก้อนจะค่อยๆโต ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็แตก โดยมีน้ำหนองและน้ำเหลืองไหลซึมออกมาด้วย
              วัณโรคที่ไต มีอาการปวด ถ่ายปัสสาวะบ่อยและมีเลือดปนออกมาด้วย
                วัณโรคที่เยื่อหุ้มสมอง มีอาการไข้ ปวดศีรษะรุนแรง ซึม คลื่นไส้ อาเจียน นอกจากนี้ยังอาจชักและหมดสติได้ หากได้รับการรักษาไม่ทันเวลา ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะพิการหรือเสียชีวิตได้ง่าย แต่ถ้ารอดชีวิตมักจะมีปัญหาเรื่องสติปัญญา สมองทึบ และศีรษะจะโตเนื่องจากมีน้ำคั่งในสมอง


                การรักษาวัณโรค

                การรักษาโรควัณโรค
                วัณโรคเป็นอีกโรคหนึ่งที่รักษาให้หายขาดได้ในปัจจุบัน และเช่นเดียวกับโรคอื่น การวินิจฉัยได้เร็ว ย่อมส่งผลดีต่อการรักษามากกว่า
                1.การรักษาด้วยยา
                ในปัจจุบันนี้ การรักษาวัณโรคด้วยยาสามารถช่วยให้ผู้ป่วยเกือบทุกรายหายขาดจากโรคได้ ซึ่งโดยทั่วไปนั้นการให้ยาจะต้องให้อย่างต่อเนื่องและเป็นเวลานานพอ

                2.การพักผ่อน
                นอกเหนือจากยาที่มีความจำเป็นอันดับแรกในการให้การรักษาแล้ว การพักผ่อนให้เพียงพอก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อผลการรักษาวัณโรค เพราะช่วยให้ปอดได้พักจากการทำงาน ส่งผลให้แผลหายได้เร็วขึ้น

                นอกจากนี้อาหารที่มีประโยชน์ แสงแดด อากาศที่บริสุทธิ์ก็มีส่วนช่วยต่อการฟืนฟูเช่นเดียวกัน

                3.Phrenicectomy (การผ่าตัดประสาทกระบังลม)
                การรักษาด้วยวิธี ผ่าตัดประสาทเฟรนิค หรือประสาทกระบังลมนั้น ทำให้ปอดได้พักผ่อนจากการทำงาน ส่งผลให้แผลที่ปอดมีโอกาสหายได้ไวขึ้น นอกจากนี้เส้นประสาทยังสามารถกลับสู่สภาพปกติ ทำให้กระบังลมกลับมาทำงานเป็นปกติอีกครั้ง

                4.Pneumothorax (การทำให้ปอดแฟบ)
                เนื่องจากไม่มีอันตรายและผู้ป่วยจะเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงเป็นวิธีที่น่าสนใจ วิธีการคือแพทย์จะฉีดอากาศเข้าสู่ช่องระหว่างปอดและผนังทรวงอก ทำให้ปอดข้างที่เป็นโรคแฟบไปหมดและไม่สามารถทำงานได้ แผลจึงหายไวขึ้น โดยในภายหลังเมื่อแผลหายแล้ว แพทย์จะทำให้ปอดกลับมาทำงานได้ดังเดิม ซึ่งปอดข้างที่เป็นโรคสามารถปล่อยให้แฟบได้เป็นปี โดยมีปอดอีกข้างทำงานเพียงข้างเดียว

                5.Thoracoplasty

                โดยทั่วไปวิธีนี้เป็นวิธีสุดท้ายที่แพทย์เลือกใช้ เป็นการตัดซี่โครงบางส่วนออกเพื่อทำให้ปอดที่เป็นโรคแฟบลงอย่างถาวร ดังนั้นจะใช้วิธีนี้ได้ก็ต่อเมื่อการรักษาวัณโรคด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล และต้องมั่นใจว่าปอดอีกข้างหนึ่งมีความสมบูรณ์และใช้งานได้เป็นปกติ


                ยาที่ใช้ในการรักษาวัณโรค
                ในปัจจุบันการรักษาวัณโรค จะใช้สูตรยารักษา 6 เดือน เป็นวิธีที่ได้ผลที่สุด ซึ่งมียา ดังนี้

                Isoniazid (ไอโซไนอะซิด)
                Rifampicin (ไรแฟมปิซิน)
                Ethambuthol (อีแธมบิวธอล)
                Pyrazinamide (ไพราซินามาย)

                โดยผู้ป่วยต้องรับประทานยาทั้ง 4 ตัว เป็นเวลา 2 เดือน ต่อด้วยยา isoniazid + Rifampicin อีก 4 เดือน จึงจะครบสูตรการรักษา และประมาณ 5 % ของผู้ใช้ยา สามารถพบอาการ ผื่น อาเจียน ปวดข้อ และตับอักเสบ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้



                สมุนไพรที่ใช้รักษาวัณโรค
                • ขมิ้นชัน 1- 2 กรัมต่อวัน
                • บอระเพ็ด 0.5 – 1 กรัมต่อวัน

                ***ทั้งขมิ้นชันและบอระเพ็ดควรทานก่อนอาหาร เพราะจะดูดซึมได้ดีกว่า
                • พลูคาว