วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2559

มะเร็งกระดูก (Bone cancer)คืออะไร


ในร่างกายของมนุษย์ที่เจริญเติบโตเต็มที่อย่างเป็นปกตินั้นจะมีกระดูกทั้งหมด 206 ชิ้น ประกอบกันเป็นระบบโครงกระดูก มีหน้าที่สำคัญในการเป็นโครงหลักให้กล้ามเนื้อและเอ็นมายึดเพื่อให้ร่างกายคงรูปอยู่ได้ รับน้ำหนักของร่างกาย ป้องปกอวัยวะภายในบางส่วนของร่างกาย และยังเป็นแหล่งสะสมของแร่ธาตุสำคัญอย่างแคลเซียม และฟอสฟอรัสอีกด้วย

มะเร็งกระดูก


สำหรับมะเร็งกระดูกนั้น แม้ว่าจะพบได้น้อยมากเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ แต่ผู้ป่วยจะแสดงอาการที่รุนแรงและการแพร่กระจายของมะเร็งจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงเป็นมะเร็งอีกชนิดที่น่าสนใจเลยทีเดียว โดยทั่วไปจะพบมากในผู้ป่วยที่ยังอายุไม่มาก (ต่ำกว่า 35 ปี) โดยเฉพาะในช่วงอายุ 10 –20 ปีจะพบมากเป็นพิเศษ


มะเร็งกระดูกสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.มะเร็งกระดูกปฐมภูมิ (Primary bone cancer หรือ Primary bone tumor)

เป็นมะเร็งที่เกิดความผิดปกติของการแบ่งตัวที่มากเกินไปของเซลล์กระดูกเองมักเกิดที่รยางค์ (แขนและขา) ในบริเวณใกล้ๆ กับข้อ มะเร็งกระดูกสามารถแบ่งย่อยๆได้อีกหลากหลายชนิด แต่โดยทั่วไปชนิดที่พบได้บ่อยๆจะมีเพียงแค่ Osteosarcoma และ Ewing’s sarcoma(ประมาณ 60% และ 35% ของมะเร็งกระดูกทั้งหมด ตามลำดับ) ด้วยเหตุนี้เองเมื่อมีการกล่าวถึงมะเร็งกระดูก โดยทั่วไปจึงหมายถึงมะเร็งทั้งสองชนิดนี้
2.มะเร็งกระดูกทุติยภูมิ (Secondary bone cancer หรือ Secondary bone tumor)

เป็นมะเร็งที่ไม่ได้เกิดจากเซลล์ของเนื้อเยื่อกระดูกผิดปกติเอง แต่เกิดจากผู้ป่วยเริ่มเป็นมะเร็งที่อวัยวะอื่นๆแล้วแพร่กระจายมาสู่กระดูกในภายหลัง โดยทั่วไปมักมาจากมะเร็งที่เต้านม ปอด ต่อมลูกหมาก และต่อมไทรอยด์ เป็นหลัก เนื่องจากมะเร็งเหล่านี้สามารถแพร่กระจายมากระดูกได้ตั้งแต่ในระยะแรกๆ ไม่เหมือนมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่มักจะแพร่กระจายมาในกระดูกในระยะท้ายๆซึ่งความจริงแล้วเราจะไม่เรียกมะเร็งชนิดนี้ว่ามะเร็งกระดูก แต่จะเรียกว่า “โรคมะเร็งแพร่กระจายมากระดูก” หรือ “โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่กระดูก”แทน


สาเหตุของมะเร็งกระดูกมีอะไรบ้าง

สาเหตุมะเร็งกระดูก

มะเร็งกระดูกก็เป็นอีกชนิดของโรคมะเร็ง ที่ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงได้ในปัจจุบันว่าเกิดจากอะไร มีเพียงปัจจัยบางอย่างจากทั้งภายในและภายนอกร่างกายประกอบกัน ที่จากการศึกษาพบว่าสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งกระดูกได้ ดังนี้
  • เกิดจากความผิดปกติของยีนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการเกิดมะเร็งของร่างกาย
  • เกิดจากการกระตุ้นของสิ่งแวดล้อมต่างๆเช่น สารเคมี กัมมันตภาพรังสี ยาฆ่าแมลงเป็นต้น ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ทำงานในโรงงาน ในแผนกรังสีของโรงพยาบาล หรืองานอื่นๆ ที่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับสารเหล่านี้ จึงมีความเสี่ยงมากกว่าบุคคลทั่วๆ ไป ที่อาจได้รับสารพวกนี้บ้างจากสิ่งแวดล้อม แต่ในปริมาณที่ไม่มากนัก
  • เกิดจากกระบวนการรักษาโรคมะเร็งเอง เช่น การฉายรังสี การให้ยาเคมีบำบัด เป็นต้น

อาการของมะเร็งกระดูกมีอะไรบ้าง

อาการมะเร็งกระดูก

เนื่องจากการเจริญพัฒนาและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ผู้ป่วยมะเร็งกระดูกจึงสามารถแสดงอาการได้หลายอย่าง โดยส่วนใหญ่มักจะมาด้วยอาการเจ็บปวด ซึ่งสามารถเกิดได้กับกระดูกทุกๆ ส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะใน long bone(กระดูกยาว) ที่แขนและขา แต่อย่างไรก็ตามอาการปวดกระดูกอาจเกิดจากความผิดปกติอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น โรคข้ออักเสบ โรคกระดูกพรุน หรือ จากการบาดเจ็บของกระดูกก็ได้ ดังนั้นแพทย์จึงควรซักประวัติผู้ป่วยให้ดีเพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง

อาการของผู้ป่วยมะเร็งกระดูกที่สามารถเกิดขึ้นได้มีดังนี้
  • อาการปวดกระดูก

อาการปวดนี้ถือเป็นสัญญาณหลักของมะเร็งกระดูกเลยก็ว่าได้ ซึ่งจะทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อเนื้องอกขยายขนาดใหญ่ขึ้น อาการปวดจะเป็นแบบตื้อๆ และรู้สึกปวดอยู่ลึกๆ ในบริเวณกระดูก โดยในช่วงระยะเริ่มแรกนั้นอาการอาจจะเป็นเฉพาะในเวลากลางคืน หรือในขณะที่มีการใช้แรง และในระยะต่อมาอาการปวดจะต่อเนื่องมากขึ้น
  • อาการบวม

ในบริเวณที่ปวดนั้น อาจจะค่อยๆมีอาการบวมเกิดขึ้น หรืออาจจะมีก้อนเนื้อโผล่ออกมาให้เห็นได้ในผู้ป่วยบางราย
  • กระดูกหัก

เซลล์มะเร็งสามารถเพิ่มความอ่อนแอให้กับกระดูกได้ และอาจทำให้เกิดกระดูกหักได้ในที่สุด ซึ่งการหักนั้นอาจเกิดในบริเวณกระดูกที่มีอาการปวดมาเป็นระยะเวลาหนึ่งโดยมีข้อสังเกตคือกระดูกจะหักเองโดยที่ไม่มีอุบัติเหตุใดๆ หรืออาจหักจากการหกล้มและมีการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง
  • ความสามารถในการเคลื่อนไหวลดลง

ถ้าเนื้องอกไปเจริญอยู่ในบริเวณใกล้ๆกับข้อ ผู้ป่วยอาจจะมีความลำบาก หรือมีอาการปวดเกิดขึ้นเมื่อพยายามจะเคลื่อนไหว
  • แคลเซียมในเลือดสูงผิดปกติ

ผู้ป่วยที่มีแคลเซียมในเลือดสูง จะมีอาการต่างๆ ได้เช่น อาการซึม สับสน หมดสติ มือเท้าชา ท้องผูก ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย มีปัญหาในการปัสสาวะ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
  • อาการอื่นๆ

อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ถ้าเกิดร่วมกับการปวดกระดูกแล้ว ถือว่าเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งกระดูก หรือการหายใจลำบาก ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อมะเร็งได้มีการกระจายไปยังอวัยวะอื่น


การรักษามะเร็งกระดูก


วิธีรักษามะเร็งกระดูก

วิธีที่แพทย์จะเลือกใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งกระดูกนั้นขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาเพียงวิธีเดียว หรือหลายๆวิธีร่วมกันก็ได้

วิธีหลักๆ ในการรักษามะเร็งกระดูก ประกอบด้วย
1.การผ่าตัด

เป็นวิธีหลักในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งกระดูกโดยส่วนใหญ่ อาจจำเป็นต้องทำbiopsy คือการตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปวินิจฉัยโรคก่อน ซึ่งเป็นการกระบวนการที่ต้องแยกออกจากการผ่าตัดเพื่อการรักษา หากมีการทำ biopsy ในบริเวณที่ไม่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาต่อการผ่าตัดเพื่อการรักษามะเร็งได้ ในขั้นร้ายแรงสุดอาจทำให้ไม่สามารถผ่าตัดเอาเซลล์มะเร็งออกได้ โดยที่ไม่ตัดเอารยางค์(แขนขา) ออกได้ ดังนั้นการใช้ศัลยแพทย์คนเดียวกันในการทำทั้งสองอย่างนี้จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

เป้าหมายหลักในการผ่าตัด คือการตัดเอาเนื้อเยื่อที่มีเซลล์มะเร็งออกไปทั้งหมด หลังจากการผ่าตัด หากมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย ก็สามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดเนื้องอกขึ้นมาใหม่ได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกัน แพทย์จะตัดเอาเนื้องอกรวมถึงเนื้อเยื่อที่ปกติในบริเวณโดยรอบออก จากนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพยาธิวิทยาจะทำการส่องกล้องเพื่อส่องดูว่าในบริเวณขอบๆ ริมๆ ของเนื้องอกที่ตัดออกมาว่ามีเซลล์มะเร็งอยู่หรือไม่ ต่อเมื่อผลออกมาว่าไม่มี ก็เป็นตัวรับรองได้ในระดับหนึ่งว่ามะเร็งจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกครั้งในบริเวณที่ได้ตัดเนื้องอกออกไป
2.รังสีรักษา

เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยการใช้รังสีจากภายนอกร่างกายเป็นหลัก มะเร็งกระดูกโดยส่วนใหญ่ไม่สามารถถูกทำลายได้โดยง่ายด้วยการฉายรังสี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้รังสีในปริมาณโดสที่สูงๆ ซึ่งปริมาณโดสของรังสีที่สูงมากนี้สามารถทำลายโครงสร้างที่ปกติในบริเวณรอบๆได้ ด้วยเหตุนี้เองทำให้การฉายรังสีไม่เป็นที่นิยมในการใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งกระดูก

โดยทั่วไปการฉายรังสี มักจะทำในกรณีที่การผ่าตัดไม่สามารถตัดเอาชิ้นเนื้อร้ายออกได้ทั้งหมด หรือในกรณีที่มีการตรวจพบเซลล์มะเร็งในบริเวณขอบของชิ้นเนื้อ นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่มะเร็งกลับมาเป็นซ้ำนั้น การฉายรังสีจะสามารถช่วยลดอาการเจ็บปวด และอาการบวมได้
3.เคมีบำบัด

เป็นการรักษามะเร็งโดยการใช้ยาเคมี วิธีนี้ถือเป็นการรักษาตามระบบ (systemic therapy) กล่าวคือ ยาเคมีจะเข้าสู่กระแสเลือด และไหลไปสู่อวัยวะต่างๆ เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งทั่วทั้งร่างกาย โดยทั่วไปวิธีนี้จะไม่นิยมในการรักษา Ewing sarcoma และ osteosarcomaเนื่องจากการตอบสนองที่ไม่ดีพอต่อยาเคมีของเซลล์มะเร็งกระดูก แต่การฉายรังสีจะได้ผลได้ในมะเร็งกระดูกบางชนิด เช่นchondrosarcoma
4.การรักษาแบบเฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง

จากการศึกษาของนักวิจัยเกี่ยวกับเรื่องความเปลี่ยนแปลงระดับโมเลกุลและพันธุศาสตร์ในเซลล์ ที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้ จึงก่อให้เกิดการพัฒนายาชนิดใหม่ที่เฉพาะเจาะจงต่อการเปลี่ยนแปลงของเซลล์นี้ โดยยาเหล่านี้จะมีการทำงานและมีผลข้างเคียงแตกต่างจากยาเคมีบำบัด ซึ่งมักจะใช้ในกรณีที่การรักษาด้วยยาเคมีไม่ได้ผล

ยาที่ใช้ในการรักษามะเร็งกระดูก

ยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งกระดูก ซึ่งได้รับการรับรองโดย องค์การอาหารและยาแห่งประเทศสหรัฐเมริกา (the Food and Drug Administrationหรือ FDA) มีดังนี้
  • Abitrexate (Methotrexate)
  • Cosmegen (Dactinomycin)
  • Dactinomycin
  • Denosumab
  • Doxorubicin Hydrochloride
  • Folex (Methotrexate)
  • Folex PFS (Methotrexate)
  • Methotrexate
  • Methotrexate LPF (Methotrexate)
  • Mexate (Methotrexate)
  • Mexate-AQ (Methotrexate)
  • Xgeva (Denosumab)

สมุนไพรที่ใช้รักษามะเร็งกระดูก
  • กระสัง

มีการศึกษาพบว่าผักกระสังสามารถช่วยต้านแบคทีเรีย ลดอาการอักเสบ ช่วยกำจัดเนื้อตายทำให้ฝีแตกได้ง่ายขึ้น และช่วยให้สิวยุบเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาจากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าในพืชชนิดนี้มีสารต้านมะเร็งอยู่มาก และเมื่อไม่นานมานี้ได้มีผลการวิจัยของสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่ากระสังมีคุณสมบัติบำรุงเสริมสร้างและซ่อมแซมกระดูกส่วนที่สึกหรอได้ ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่าสมุนไพรชนิดนี้มีผลต่อการรักษามะเร็งกระดูก