วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ปวดท้องประจำเดือน (Dysmenorrhea)


ภาวะปวดประจำเดือน คือ อาการปวดบีบเป็นพัก ๆ บริเวณท้องน้อย อาจร้าวไปถึงบริเวณหลัง บริเวณก้น หรือบริเวณต้นขา เป็นอาการปวดในระหว่างเริ่มมีประจำเดือนถึง 8-48 ชั่วโมง เนื่องจากร่างกายมีการหลั่งสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ออกมาทำให้มีการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ผู้หญิงส่วนมากเมื่อเริ่มมีประจำเดือนแล้วจะมีอาการการปวดท้องขณะมีประจำเดือน จนบางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ใครๆก็ปวดกันทั้งนั้น แล้วแต่ว่าจะปวดมาก ปวดน้อย แตกต่างกันออกไป อาการปวดประจำเดือนที่ถือว่าไม่อันตรายและสามารถหายเองได้ คือ ต้องไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน สามรถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ในบางคนที่อาจจะมีอาการปวดรุนแรงมากจนถึงขั้นส่งผลต่อสุขภาพ รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน จนถึงกับต้องหยุดเรียนหรือหยุดงาน ในกรณีเช่นนี้ อาจเป็นอาการปวดที่อาจเกิดจากโรคร้าย ไม่ควรละเลยหรือทนปวดอยู่ ซึ่งอาจจะทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุโดยเร็ว

ปวดประจำเดือน



การเกิดประจำเดือน (Menstruation)

เลือดประจำเดือน คือ เลือดที่เกิดจากการหลุดลอกสลายตัวของเนื้อเยื่อผนังมดลูกด้านในและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วย Inflammatory exudates, Proteolytic enzyme และเม็ดเลือดแดง โดยปริมาณเลือดที่ออกมานั้นถูกควบคุมโดย สมดุลระหว่างการสลายลิ่มเลือดจากพลาสมิน (Plasmin) เพื่อให้เลือดประจำเดือนไม่แข็งตัวเป็นลิ่มเลือด และออกมาได้โดยง่าย ร่วมกับกระบวนการแข็งตัวของเลือดที่บริเวณหลอดเลือดและเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออก ซึ่งเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนสองชนิด ได้แก่ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรน (Progesterone) ทำหน้าที่ควบคุมการสร้างและหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก ระดับฮอร์โมนทั้งสองจะมีความสัมพันธ์กับการตกไข่จากรังไข่ โดยแต่ละรอบเดือนจะมีช่วงเวลาประมาณ 26-30 วัน ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ทำให้ประจำเดือน เกิดขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง

ชนิดของการปวดท้องประจำเดือน มี 2 ชนิด ได้แก่

1.การปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ (Primary dysmenorrheal) 
เป็นการปวดประจำเดือนที่เกิดขึ้นโดยไม่มีโรคทางออร์แกนิคในเชิงกราน โดย จะมีอาการนำก่อนที่จะมีการปวด ดังนี้
  • อาการตึงคัดเต้านม
  • อาการบวมที่เท้า
  • อาการท้องอืด
  • อาการซึมเศร้า
  • อาการหงุดหงิด

อาการปวดแบบปฐมภูมิพบได้ร้อยละ 30-50 ของหญิงวัยเจริญพันธุ์ พบได้ในรอบการมีประเดือนที่มีการตกไข่ (ovulatory cycle) ซึ่งเกิดจากการที่มดลุกหดรัดตัว มักเกิดก่อนการมีประจำเดือน 1 วัน และอาการปวดจะหายไปในวันที่ 1-2 ของการมีประเดือน ลักษณะเป็นแบบ colicky pain มักปวดท้องน้อยเป็นส่วนใหญ่ ปวดร้าวไปที่ต้นขาและหลัง แต่จะไม่ปวดต่ำกว่าเข่าและไม่มีอาการเจ็บที่น่องด้วย
2.การปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ (Secondary dysmenorrheal)เป็นการปวดประจำเดือนที่มีสาเหตุมาจากพยาธิสภาพทางออร์แกนิคในเชิงกราน ซึ่งก็แล้วแต่ว่าเป็นพยาธิสภาพแบบไหน อยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างไร ความเจ็บปวดกระจายอยู่ทั่วๆไปที่ท้องน้อย อาจจะปวดร้าวไปที่หลังและขา บางครั้งอาจมีลักษณะเป็นแบบ colicky pain ได้

สาเหตุของการปวดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ ได้แก่
  • โรคการอักเสบ ติดเชื้อในเชิงกราน
  • มดลูกคว่ำไปทางหลังและปากมดลูกตีบ
  • มีสิ่งแปลกปลอมในโพรงมดลูก
  • การเจ็บปวดของลำไส้ร่วมกับการมีประจำเดือน
  • Adenomyosis ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกเข้าไปเจริญอยู่ในกล้ามเนื้อมดลูก
  • ความผิดปกติของรังไข่


อาการไม่สบายอื่นๆขณะมีประจำเดือน
  1. เจ้าน้ำตา หดหู่ ร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุ ตัดสินใจอะไรยาก สับสนและหลงลืมบ่อยๆ นอนหลับไม่เพียงพอรู้สึกเหมือนไม่ได้พักผ่อน เหนื่อยเพลียง่าย
  2. ขี้โมโห อารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย หรือบางทีอาจมีอาการวิตกกังวลมากกว่าปกติที่เคยเป็น รู้สึกสูญเสียโดยไม่มีสาเหตุ บางครั้งเราจึงได้ยินคำพูดที่ผู้ชายใช้เรียกผู้หญิงที่อยู่ระหว่างการมีรอบเดือนว่า “มนุษย์เมนส์”
  3. อาการท้องอืด บางครั้งอาจรู้สึกว่าเต้านมบวมและนิ่มกว่าปกติ บางรายอาจมีเต้านมคัดตึง มือเท้าบวม น้ำหนักขึ้น หน้าท้องป่องออกมากกว่าปกติ
  4. อาการใจสั่น ไม่มีแรง อ่อนไหวง่าย ร่างกายเจ็บป่วยบ่อยโดยไม่มีสาเหตุ ขาดความกระตือรือร้นทางเพศ มีปัญหาเกี่ยวกับผิวในระหว่างการมีรอบเดือน เช่น สิว ฝ้า
  5. อาการหิวบ่อย รับประทานอาหารมากกว่าปกติ โดยเฉพาะของหวาน และมีอาการเวียนศรีษะบ่อย

ปวดท้องประจำเดือนที่ถือว่าผิดปกติ
  1. ปวดท้องหลายวันก่อนมีประจำเดือน และปวดเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีประจำเดือน และอาจจปวดนานจนกระทั่งประจำเดือนหมดไป
  2. ปวดมากจนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ต้องหยุดเรียน หยุดงาน ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
  3. มีอาการปวดมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากรับประทานยาแก้ปวดแล้ว
  4. มีอาการปวดเวลาถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ในขณะที่มีรอบเดือน
  5. มีเลือดออกมากกว่าปกติ

วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีอาการปวดประจำเดือน
  1. วางกระเป๋าน้ำร้อนหรือผ้าชุบน้ำอุ่นที่บริเวณท้องน้อย จะช่วยบรรเทาอาการปวดให้ลดลงได้
  2. ดื่มน้ำมากๆ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีเกลือสูงและกาแฟ
  3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดบริเวณอุ้งเชิงกราน จะช่วยลดอาการปวด
  4. รับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุเหล็ก แม็กนีเซียม แคลเซียมและวิตามินบีรวม
  5. พักผ่อนให้เพียงพอระหว่างที่มีประจำเดือน
  6. รับประทานยาบรรเทาอาการปวด เช่น Paracetamol, Ibuprofen, Medfenamic acid, Buscopan หรืออาจรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมก็ได้