วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อาการปวดต้นคอมีสาเหตุอย่างไร อ่าน



กระดูกคอ มีหน้าที่ในการเคลื่อนไหวคอในทิศทางต่างๆ เช่น ก้ม เงย หันซ้าย หันขวา หรือเอียงคอไปมา การที่เราใช้งานกระดูกคอมากเกินไป จะส่งผลให้เกิดอาการปวดคอขึ้นได้ ซึ่งปัญหาการปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ พบได้บ่อยในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยทำงาน ผู้ป่วยที่มีปัญหาปวดเมื่อยต้นคอเรื้อรัง มักมาจากการอยู่ในท่าทางของการดำเนินชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องนั่งทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ หากใครมีปัญหาปวดคอแล้วไม่ใส่ใจรีบแก้ไขปัญหา ปล่อยให้ปวดเรื้อรังเป็นเวลานาน อาจจะมีผลทำให้หมอนรองกระดูกและกระดูกคอเสื่อมได้ ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน ศักยภาพในการทำงาน และคุณภาพชีวิต

ปวดต้นคอ
อาการปวดต้นคอ


ผู้ป่วยทั่วไปมักจะบอกแพทย์ได้แน่นอนว่าอาการปวดเมื่อยอยู่ที่ต้นคอ แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปที่ศรีษะ บางรายอาจมาด้วยอาการมึนศรีษะ จากการซักประวัติถ้าหากผู้ป่วยเริ่มมีอาการปวดเมื่อยหลังเที่ยงหรือบ่ายไปแล้ว ปัญหานี้มักเกิดจากกล้ามเนื้อเมื่อนล้าจากท่าของคอและศรีษะไม่ดี ส่วนการปวดเมื่อยจากการนอนในท่าที่ศรีษะห้อยหรือบิด มักจะมีอาการปวดเมื่อยต้นคอข้างใดข้างหนึ่ง ถ้าเป็นมากจะปวดทันทีและเดินคอแข็ง นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับเชื้อไวรัส ทำให้มีอาการปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ เป็นอาการปวดเมื่อยแบบกว้างๆ คล้ายกับอาการปวดเมื่อยจากท่าทางที่ไม่ถูกต้อง ผู้ป่วยประเภทนี้ อาจมีตำแหน่งที่ปวดเมื่อยแตกต่างกันออกไป แพทย์ควรตรวจในคอด้วย ซึ่งมักจะพบอาการคอบวมและแดงแบบไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วยเสมอ


สาเหตุของการปวดคอที่พบได้บ่อย

  • อิริยาบถหรือท่าทางที่ผิดปกติ ได้แก่ การใช้งานกล้ามเนื้อคอมากเกินไป การก้มๆเงยๆคอทำงานทั้งวัน หรือก้มคอดูหน้าจอโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ท่านอนที่ไม่ถูกต้อง การหนุนหมอนสูงเกินไป ซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อคออักเสบได้
  • กระดูกคอเสื่อม เป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภาวะต้นคอเสื่อม อักเสบมากๆ อาจมีอาการปวดร้าวที่แขนและมือพร้อมกับมีอาการชา เนื่องจากมีกดทับของเส้นประสาท
  • ภาวะคอเคล็ด เป็นภาวะที่คอมีการเคลื่อนไหวผิดทิศทางอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลให้กล้ามเนื้อหรือเอ็นบริเวณคอเกิดการยืดอย่างมาก หรืออาจมีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ หดเกร็ง เกิดอาการปวดขึ้นได้
  • ภาวะทางจิตใจ เช่น ความเครียด ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อคอมีการหดเกร็งมากและเป็นเวลานาน
  • อาการปวดคอที่เป็นอาการปวดร้าวมาจากอวัยวะอื่นๆ โรคบางชนิด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดก็อาจทำให้มีอาการปวดร้าวบริเวณคอได้
สัญญาณอันตรายของอาการปวดต้นคอ
  1. มีอาการปวดคอร่วมกับอาการแขนขาอ่อนแรง ชาและปวดร้าวไปที่แขนร่วมด้วย
  2. อาการปวดคอภายหลังจากได้รับอุบัติเหตุ
  3. อาการปวดคอที่เป็นเรื้อรังนานมากกว่า 2 สัปดาห์
  4. มีอาการปวดคอร่วมกับอาการปวดข้อหรือข้ออักเสบ
  5. มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย
  6. ไม่สามารถเคลื่อนไหวคอในทิศทางต่างๆได้ตามปกติ

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งอาการที่ถือเป็นอาการเริ่มต้นของโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม คือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดคอและคอแข็งที่ชาวบ้านเรียกกันว่า”ตกหมอน” หรือบางทีอาจมีอาการปวดลึกๆบริเวณกระดูกสะบักที่ชาวบ้านเรียกว่า”สะบักจม” ซึ่งอาการทั้งสองอย่างนี้เป็นสัญญาณเตือนว่า หมอนรองกระดูกคอเริ่มมีการเสื่อมแล้ว


การวินิจฉัยอาการปวดคอ

แพทย์จะอาศัยการซักประวัติเพื่อวิเคราะห์ตำแหน่ง จากนั้นจึงเริ่มทำการตรวจร่างกายผู้ป่วย ในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีอาการมากจะเห็นลักษณะคอแข็งเกร็ง ส่วนโค้งตัวของกระดูกสันหลังส่วนคอจะเสีย กล้ามเนื้อทั่วไปโดยรอบอาจมีลักษณะเกร็ง การเคลื่อนไหวศรีษะจะมีมุมจำกัดในตำแหน่งที่กล้ามเนื้อมีการอักเสบหรือตึงตัว ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดเรื้อรังมานาน หรือผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับอุบัติเหตุมา แพทย์จะใช้ผลการตรวจภาพถ่ายรังสีช่วยวินิจฉัย


ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อมีอาการปวดต้นคอ
  • กรณีปวดเฉียบพลันภายใน 48 ชั่วโมงแรก ให้ดูแลตัวเอง ดังนี้
  • พักการใช้กล้ามเนื้อนั้นๆ ห้ามกดหรือยืดแรงๆ เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำได้
  • ประคบด้วยความเย็นภายใน 24 ชั่วโมงแรก หลังจากมีอาการปวดเป็นเวลา 20 นาทีทุกๆ 2-3 ชั่วโมง
  • รับประทานยาแก้ปวด หรือยาคลายกล้ามเนื้อ
  • กรณีปวดเรื้อรังภายหลัง 48 ชั่วโมงไปแล้ว
  • ประคบด้วยกระเป๋าน้ำร้อนหรือใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นประคบเป็นเวลาประมาณ 15-20 นาที
  • ออกกำลังกล้ามเนื้อคอเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรง อย่างสม่ำเสมอ โดยการเคลื่อนไหวศรีษะช้าๆในทุกทิศทาง ได้แก่ ก้ม เงย เอียงซ้าย เอียงขวา หันหน้าไปทางซ้ายทางขวา และควงศรีษะเป็นวงกลม
  • ปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงสถานที่ทำงาน จัดโต๊ะทำงานให้สามารถนั่งทำงานในท่าทางที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาขณะที่กำลังเป็นอยู่และในระยะยาว
  • รับประทานยาแก้ปวด หรือยาคลายกล้ามเนื้อ
การรักษาทางกายภาพบำบัด
  • การประคบด้วยแผ่นประคบความร้อน บริเวณกล้ามเนื้อที่ปวด
  • การรักษาโดยใช้ความร้อนลึกจากคลื่นเหนือเสียง (Ultrasonic wave) คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Shortwave diathermy)
  • การดึงคอเพื่อลดอาการกดทับของเส้นประสาทคอ
  • การกด ดัด ดึง ซึ่งถือเป็นการรักษาที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
  • การออกกำลังกายกล้ามเนื้อคอ