วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2559

มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer)คืออะไร อาการ วิธีรักษา


รังไข่ถือเป็นหนึ่งในอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง เพราะนอกจากหน้าที่ในการผลิตไข่ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิงแล้ว รังไข่ยังมีหน้าที่ในการผลิต เอสโทรเจน และ โพรเจสเทอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงอีกด้วยดังนั้นหากมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นกับรังไข่ ก็จะมีผลการทำงานของระบบสืบพันธุ์ไม่มากก็น้อย จนสุดท้ายอาจส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยาก หรือการไม่สามารถมีบุตรก็เป็นได้

มะเร็งรังไข่ คือ การที่เซลล์บริเวณรังไข่มีการเจริญพัฒนาอย่างผิดปกติ มากเกินไป จนไม่สามารถควบคุมได้ เป็นมะเร็งชนิดที่พบบ่อยเป็นอันดับ 5 และมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 4 ของมะเร็งที่พบบ่อยในเพศหญิง สามารถพบได้บ่อยในผู้หญิงวัย 40-60 ปี และอาจพบได้ในเด็กช่วงก่อนหรือหลังวัย 10 ปี
มะเร็งรังไข่

ชนิดของมะเร็งรังไข่จะแบ่งตามชนิดของเซลล์ที่เกิดมะเร็ง ดังนี้
  • Epithelial tumor

เกิดที่เซลล์ผิวหรือเยื่อหุ้มของรังไข่ เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด สามารถแบ่ง
  • Germ cell tumor

เกิดที่เซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตไข่
  • Stroma tumor

เกิดที่เซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ที่มีหน้าที่สำคัญในการผลิต เอสโทรเจน และ โพรเจสเทอโรน

มะเร็งรังไข่ส่วนใหญ่เกิดจากเซลล์ที่เรียกว่า epithelial cell ซึ่งเป็นเซลล์ที่อยู่เปลือกนอก และยังแบ่งชนิดย่อยๆ เป็นserous, mucinous, endometrioid, clear cellและ undifferentiated or unclassifiable

การดำเนินโรคของมะเร็งรังไข่แบ่งได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
  • ระยะที่ 1 : เซลล์มะเร็งเจริญพัฒนาอยู่ภายในรังไข่ อาจจะเพียงข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง
  • ระยะที่ 2 : เซลล์มะเร็งเจริญต่อไปจนมีการรุกล้ำสู่อวัยวะอื่น ในช่องเชิงกรานเกิดขึ้น
  • ระยะที่ 3 : เซลล์มะเร็งกระจายต่อไปยังช่องท้อง รวมถึงต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง
  • ระยะที่ 4 : เซลล์มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ไกลมากขึ้น เช่น ตับ ปอด

สาเหตุของมะเร็งรังไข่มีอะไรบ้าง

มะเร็งรังไข่
สาเหตุของโรคมะเร็งรังไข่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดในวงการแพทย์ปัจจุบัน มีแค่เพียงบางสิ่งที่ดูเหมือนว่าจะส่งผลต่อการเกิดโรคนี้ เช่น มักพบในผู้ที่อาศัยในประเทศพัฒนาแล้ว ผู้ที่อยู่ในช่วงวัยหลังหมดประจำเดือน และยังมีการศึกษาพบว่าผู้ที่ยีนมะเร็งเต้านมBRCA1และ BRCA2 เกิดการกลายพันธุ์ ก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ได้

สำหรับปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ มีดังนี้
  • อายุ — 2 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่มีอายุมากกว่า 55 ปี
  • การรักษาโรคด้วยฮอร์โมนhormone replacement therapy (HRT) ต่อเนื่องนานกว่า 5 ปี
  • การมีน้ำหนักเกิน หรือ โรคอ้วน
  • การตรวจพบว่ามีซีสต์ในรังไข่
  • สูบบุหรี่
  • การเริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนช้ากว่าปกติ
  • การมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านม
  • การเป็นมะเร็งบางชนิด (มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก)

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบางอย่างที่พบว่าช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่ได้ ดังนี้
  • ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด
  • ผู้ที่มีบุตร – ยิ่งจำนวนบุตรมาก ความเสี่ยงจะยิ่งลดลง
  • การให้นมบุตร
  • ผู้ที่ได้รับการตัดมดลูก


มะเร็งรังไข่มีอาการอย่างไร

มะเร็งรังไข่ อาการ

มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีอาการใดๆ หรือมีแต่ไม่ชัดเจนในระยะเริ่มต้นของการเป็นมะเร็งรังไข่ โดยอาการเหล่านี้สามารถเกิดได้ในหลายๆ โรค ไม่ใช่อาการที่เฉพาะเจาะจงของโรคแต่อย่างใด ซึ่งอาการดังกล่าว มีดังนี้
  • ปวดท้อง หรือปวดบริเวณกระดูกเชิงกรานเนื่องจากมีก้อนของเนื้องอกในช่องท้อง
  • อาการท้องบวม หรือ รู้สึกว่าท้องใหญ่ขึ้นเป็นเวลานานเกิดจากมะเร็งได้มีการแพร่กระจายไปในบริเวณช่องท้อง
  • อิ่มไวขึ้น รับประทานอาหารได้น้อยลง เบื่ออาหาร
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น ในปริมาณที่มากขึ้น ปัสสาวะขัด
  • น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ
  • ปัญหาระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะลำไส้ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย
  • ปวดหลัง
  • อาการอ่อนเพลียอย่างรุนแรง
  • อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • อาจมีขนขึ้น เสียงห้าวเหมือนผู้ชายได้ เนื่องจากการสร้างฮอร์โมนที่ผิดปกติไปของรังไข่

มะเร็งรังไข่ยิ่งรู้เร็วเท่าไหร่ โอกาสในการรักษาหายขาดก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นหากมีอาการเหล่านี้ แม้เพียงแค่อาการใด อาการหนึ่ง ควรไปพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยต่อไป


การรักษามะเร็งรังไข่

มะเร็งรังไข่ วิธีรักษา

วิธีรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งรังไข่ ระยะการดำเนินโรค และการแพร่กระจายของโรค นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย สุขภาพ ความแข็งแรงของผู้ป่วย รวมไปถึงเรื่องส่วนตัวบางอย่าง เช่น การวางแผนที่จะมีบุตรในอนาคต ก็มีผลต่อแผนการรักษาเช่นเดียวกันซึ่งโดยส่วนใหญ่ของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่จะใช้วิธีรักษาด้วยการผ่าตัด ร่วมกับการใช้เคมีบำบัด

วิธีการรักษามะเร็งรังไข่ สรุปได้ดังนี้
1.การผ่าตัด

ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่เกือบทั้งหมด มีความจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด โดยการผ่าตัดสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบตามการแพร่กระจายของมะเร็ง ดังนี้
  • ในกรณีที่มะเร็งยังอยู่ภายในรังไข่ ยังไม่มีการแพร่กระจายออกไปภายนอก

ในกรณีนี้ แพทย์อาจเลือกตัดออกเฉพาะรังไข่และท่อนำไข่ข้างที่เป็นโรคเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องตัดออกทั้งหมด ซึ่งผู้ป่วยจะยังสามารถมีบุตรได้
  • ในกรณีที่มะเร็งได้มีการกระจายออกนอกรังไข่

ในกรณีนี้ไม่มีทางเลือกมากนัก โดยแพทย์อาจจำเป็นต้องตัดรังไข่ทั้งสองข้าง มดลูก รวมไปถึงต่อมน้ำเหลืองในบริเวณขาหนีบ และเนื้อเยื่อบริเวณโดยรอบออกทั้งหมด โดยวิธีการนี้จะเรียกว่า total abdominal hysterectomy (TAH) หรือ bilateral salpingo-oophrectomy (BSO)

การผ่าตัดในผู้ป่วยที่โรคอยู่ในระยะท้ายๆ ปกติจะทำการตัดเอาเนื้องอกออกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก่อนที่ใช้เคมีบำบัดในการรักษาต่อไป
2.เคมีบำบัด

เป็นการใช้ยาเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง ประเภทของเคมีบำบัดจะขึ้นกับชนิดของมะเร็งรังไข่เช่นกัน โดยทั่วไปนิยมใช้ยา carboplatin ในการรักษา ซึ่งอาจให้เพียงตัวเดียว หรือให้ร่วมกับยา paclitaxel ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมียาอีกมากมายที่สามารถใช้ในเคมีบำบัดได้ โดยจะใช้ยาตัวใดนั้น ย่อมขึ้นกับวิจารณญาณของแพทย์

เคมีบำบัดสามารถทำหลังการผ่าตัด เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่ หรือใช้ในผู้ป่วยที่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ นอกจากนี้ยังสามารถทำก่อนผ่าตัดได้เช่นกัน เพื่อให้เนื้องอกหดเล็กลง
3.รังสีรักษา/การบำบัดด้วยรังสี

เป็นการฉายรังสีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง แม้จะไม่ได้รับความนิยมเหมือนการผ่าตัดและเคมีบำบัด แต่การใช้รังสีก็มีให้เห็นอยู่บ้าง โดยมักจะทำหลังจากการผ่าตัด เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่เหลืออยู่


ยาที่ใช้ในการรักษามะเร็งรังไข่

การให้ยาผู้ป่วย(เคมีบำบัด) อาจทำหลังจากการผ่าตัด ก่อนการผ่าตัด หรือทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดก็ได้ ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ส่วนใหญ่มักจะได้ยา carboplatin โดยแพทย์อาจให้ร่วมกันกับยาpaclitaxel(Taxol) และโดยทั่วไปของการรักษา ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาในทุกๆ 3 สัปดาห์ รวมทั้งหมด 6 ครั้ง ทั้งนี้หากอาการของผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องใช้เวลารักษานานขึ้น


ยาที่ใช้ในผู้กลับมาเป็นซ้ำ

ในกรณีของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ รายที่เคยรักษาหายแล้วกลับมาเป็นซ้ำ มียาหลากหลายมากมายที่แพทย์สามารถเลือกใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นยาสองชนิดที่กล่าวไปแล้ว หรือยาชนิดอื่นๆ ซึ่งอาจพิจารณาได้จากผลการรักษาของครั้งที่ผ่านมา การตอบสนองต่อยา และผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น โดยทั่วไปหากการรักษาเป็นไปด้วยดี และโรคมะเร็งได้หายไปเป็นระยะเวลานานพอ แพทย์ก็อาจจะให้ยาcarboplatin อีกครั้ง และเช่นเคย ยาชนิดนี้สามารถให้ร่วมกันกับยาอื่น โดยเฉพาะ paclitaxel ได้

ยาอื่นๆ ที่สามารถใช้รักษาผู้กลับมาเป็นมะเร็งรังไข่ซ้ำ มีดังนี้
  • Paclitaxel (ไม่ได้ใช้ร่วมกับยาอื่น)
  • Liposomal doxorubicin (Caelyx, Myocet or Doxil)
  • Gemcitabine
  • Cisplatin
  • Topotecan
  • Etoposide
  • Cyclophosphamide

สมุนไพรที่ใช้รักษามะเร็งรังไข่

แม้ว่าจะมีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณของยาสมุนไพรจีนบางอย่างว่าสามารถรักษาโรคมะเร็งรังไข่ได้ แต่ก็ได้มีการออกมาเตือนโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคมะเร็งของระบบสืบพันธุ์สตรี จากสมาคมมะเร็งนรีเวชไทยซึ่งระบุชัดเจนว่า ไม่มีความน่าเชื่อถือมากพอของผลการรักษา เป็นเพียงการรับข้อมูลกันแบบปากต่อปากเท่านั้น นอกจากนี้หากผู้ป่วยบางรายได้รับยาเคมีบำบัดอยู่ก่อนแล้ว การรับประทานสมุนไพรเพิ่มเข้าไป อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา จนสุดท้ายอาจทำให้แผนการรักษาล้มเหลวได้