วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

โรคอัมพฤกษ์ (Paresis) คืออะไร


โรคอัมพฤกษ์ คือการที่อวัยวะของร่างกายอ่อนแรง โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงโรคนี้มักจะหมายถึงการที่แขนขาอ่อนแรง แต่ในความเป็นจริงแล้วอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายก็สามารถที่จะเกิดอาการนี้ได้เช่นกัน เช่น ophthalmoparesis คืออัมพฤกษ์ที่ดวงตา เกิดจากกล้ามเนื้อกลอกตาบางมัดอ่อนแรง gastroparesis คือ การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่กระเพาะ และ vocal cord paresis คือ การอัมพฤกษ์ของเส้นเสียง

อาการโรคอัมพฤกษ์


โดยทั่วไปโรคอัมพฤกษ์นั้นมีความใกล้เคียงกันกับโรคอัมพาตมากๆ ทั้งสาเหตุและอาการแสดงของโรค โดยสองโรคนี้สามารถแยกออกจากกันได้จากระดับความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยทั้งสองโรคนี้จะมีอาการอ่อนแรงเหมือนๆกัน โดยผู้ป่วยอัมพฤกษ์จะยังพอมีแรงเหลืออยู่บ้าง จึงยังสามารถขยับร่างกายได้ ใช้งานได้แต่ไม่ดีเท่าคนปกติ อาจมีอาการชา ไม่สามารถหยิบจับของหนัก หรือหยิบจับดินสอเพื่อเขียนหนังสือได้ และในส่วนของผู้ป่วยอัมพาตนั้นจะไม่เหลือแรงแม้แต่จะขยับร่างกายในส่วนที่เกิดโรคได้เลย จึงสรุปได้ว่าอัมพฤกษ์นั้นมีความรุนแรงน้อยกว่าอัมพาต


สาเหตุของโรคอัมพฤกษ์มีอะไรบ้าง
สาเหตุโรคอัมพฤกษ์
เช่นเดียวกับโรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ก็มีสาเหตุหลักมาจากโรคเลือดเลือดสมองเช่นเดียวกัน ส่วนสาเหตุอื่นๆ ก็ยังคงเหมือนกัน ได้แก่
  • การอุดตันของหลอดเลือดสมอง (Stroke)
  • การได้รับบาดเจ็บ (Trauma)
  • โรคโปลิโอ (Poliomyelitis)
  • โรคสมองพิการ (Cerebral palsy)
  • โรคเส้นประสาท (Peripheral Neuropathy)
  • โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
  • โรคโบทูลิซึม (Botulism)
  • ภาวะความบกพร่องของกระดูกสันหลัง (Spina bifida)
  • โรคเส้นประสาทหลายเส้นอักเสบเฉียบพลัน (Guillain Barre’syndrome)
  • โรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple sclerosis)

ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น สาเหตุหลักของโรคอัมพฤกษ์เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง
  • Embolic stroke คือสภาวะที่เกิดลิ่มเลือดหลุดลอยไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง ซึ่งถ้าเกิดที่หลอดเลือดแดงใหญ่อาการก็จะเป็นมาก แต่หากเกิดการอุดตันที่หลอดเลือดแดงเล็กกว่า อาการที่แสดงก็จะน้อยกว่า อ่อนแรงไม่มาก โดยทั่วไปภาวะนี้มักจะมีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง การบริโภคอาหารไขมันสูงเป็นประจำ การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย ความผิดปกติของหัวใจและโรคเลือดบางชนิด ผู้ป่วยที่มีปัจจัยทั้งหมดนี้สะสมอยู่เป็นเวลานานจะส่งผลให้ผนังหลอดเลือดหนาและแข็งตัวขึ้นเนื่องจากการตีบและอุดตัน จนสุดท้ายสมองเกิดการขาดเลือดเกิดเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตในที่สุด ซึ่งในกรณีนี้ผู้ป่วยมักจะมีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบร่วมด้วย
  • Hemorrhagic stroke คือการที่หลอดเลือดสมองแตก เป็นภาวะที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เพราะสามารถทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว โดยทั่วไปภาวะนี้พบได้ประมาณ 20% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด เมื่อเกิดภาวะหลอดเลือดสมองแตกจะมีก้อนเลือดไปเบียดกดเนื้อสมอง ทำให้เนื้อสมองส่วนนั้นทำหน้าที่ผิดปกติไป ซึ่งภาวะนี้มักสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น การเป็นโรคความดันโลหิตสูงเป็นเวลานานโดยไม่รับการรักษา ความเครียด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาบางชนิด
ปัจจัยใดบ้างที่เพิ่มความเสี่ยงให้เป็นอัมพฤกษ์
  • ภาวะไขมันในเลือดสูง – เพิ่มความเสี่ยงที่ไขมันจะไปเกาะพอกที่หลอดเลือดมากขึ้น ทำให้โอกาสที่จะกลายเป็นลิ่มเลือดที่ล่องลอยไปอุดตันในหลอดเลือดสมองเพิ่มมากขึ้น
  • โรคความดันโลหิตสูง – ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจะมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นเป็น 3 – 17 เท่าของคนปกติ
  • โรคเบาหวาน – ผู้ป่วยเบาหวานจะมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นเป็น 2 – 4 เท่าของคนปกติ
  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น – มากกว่า 65 ปีขึ้นไป
  • เพศ – ผู้ชายมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้มากกว่าผู้หญิง
  • การสูบบุหรี่ – ผู้ที่สูบบุหรี่จัดจะมีโอกาสเป็นโรคได้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 3 เท่า
  • ความอ้วน การมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน การไม่ออกกำลังกาย
  • ความเครียด
  • กิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ
  • ยาบางชนิด เช่น การรับประทานยาแอสไพรินเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจและสมอง แต่มีผลข้างเคียงคือทำให้มีเลือดออกในสมองได้
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด
  • เนื้องอกในสมอง
โรคอัมพฤกษ์มีอาการอย่างไร

ลักษณะการเกิดอาการของโรคอัมพฤกษ์ก็จะมีลักษณะเหมือนกันกับการเกิดโรคอัมพาต คืออาการจะเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันทันที เป็นนาทีหรือชั่วโมง ไม่มีอาการอื่นแสดงก่อนล่วงหน้า ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นนั้นจะมีความสัมพันธ์กับสมองส่วนที่ขาดเลือด กล่าวคือถ้าสมองด้านซ้ายขาดเลือด ร่างกายด้านขวาซึ่งโดยปกติจะถูกควบคุมโดยสมองด้านนี้ก็จะเกิดอาการอ่อนแรง ในทำนองเดียวกันถ้าสมองด้านขวาขาดเลือด ร่างกายด้านซ้ายก็จะเกิดอาการเช่นกัน

อาการที่พบบ่อยมีดังนี้
  • แขนขา ด้านเดียวกันเกิดอาการอ่อนแรงทันที
  • แขนขา ด้านเดียวกันและใบหน้าเกิดอาการชา
  • อาการสับสน พูดไม่รู้เรื่อง พูดไม่ชัด
  • มองเห็นไม่ชัด ตาพร่า อาจจะเห็นภาพเพียงบางส่วนหรือเห็นได้แคบลง
  • หายใจลำบาก ติดขัด หอบเหนื่อย
  • มึนงง วิงเวียน มีปัญหาในการทรงตัว เดินไม่มั่นคง
  • ปวดศีรษะรุนแรงโดยไม่มีสาเหตุ
  • คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งเกิดจากความดันในสมองเพิ่มสูงขึ้น พบในผู้ป่วยเลือดออกในสมอง

4 อาการหลัก ที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคอัมพฤกษ์และอัมพาต
เรียกว่า ฟาต (FAST) คือ
  1. Facial weakness (ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว)
  2. Arm weakness (แขนอ่อนแรง ไม่มีแรง)
  3. Speech difficult (พูดไม่ชัด พูดไม่ได้)
  4. Time to act (ทุกอาการเกิดพร้อมกันทันที)
การรักษาโรคอัมพฤกษ์

การรักษาโรคนี้ให้มีประสิทธิภาพนั้นจะสัมพันธ์กับสิ่งต่อไปนี้
  • เวลาที่เข้ามาทำการรักษา โอกาสที่จะหายเป็นปกติจะมีมากขึ้น หากได้รับการรักษาที่เร็วขึ้น
  • ระดับความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงน้อยกว่าย่อมมีโอกาสที่จะหายเป็นปกติได้มากกว่าและใช้เวลาในการรักษาที่สั้นกว่า
  • ความสามารถของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ความพร้อมของอุปกรณ์ เทคนิค วิธีการที่เหมาะสมในการรักษา
  • ตัวผู้ป่วยเอง สภาพจิตใจของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการรักษา

การรักษาโรคอัมพฤกษ์ รวมถึงอัมพาต ทำได้โดยการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ดังนี้
  • การให้ยาสลายลิ่มเลือด
  • การให้รับประทานยาแอสไพริน
  • การให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (acute stroke unit) ซึ่งเป็นการรักษาที่ช่วยลดอัตราการตายหรือพิการได้ดีวิธีหนึ่ง
  • ในรายที่มีอาการรุนแรงและมีการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดแดงใหญ่ Middle cerebral artery ในสมองอาจจะใช้วิธีการ “ผ่าตัดเปิดกะโหลก” (Hemicraniectomy) โดยมีผลทางการศึกษาระบุไว้ชัดเจนว่าการรักษาด้วยวิธีนี้สามารถลดอัตราการตายของผู้ป่วยได้จริง
นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในระหว่างให้การรักษา คือการควบคุมความดันโลหิต การป้องกันภาวะแทรกซ้อน การทำกายภาพบำบัดฟื้นฟู การให้ความร่วมมือกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวในการดูแลยามที่ผู้ป่วยสิ้นหวัง หมดกำลังใจในการรักษา การให้กำลังใจผู้ป่วย ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการฟื้นตัวของผู้ป่วยทั้งสิ้น


ยาที่ใช้ในการรักษาโรคอัมพฤกษ์

กลุ่มยาละลายลิ่มเลือด

ในวงการแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ในการรักษาโรคอัมพฤกษ์และอัมพาตได้โดยตรง แต่ก็มียาที่ช่วยรักษาอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งส่งผลในทางอ้อมช่วยในการรักษาโรคนี้ได้อยู่บ้าง
  • ยาละลายลิ่มเลือด (Tissue plasminogen activator, tPA)
สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ทางหลอดเลือดดำแก่ผู้ป่วยที่หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน โดยผู้ป่วยจะต้องได้รับยาภายในเวลา 3 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ หากเปรียบเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ได้รับยา ยาชนิดนี้สามารถเพิ่มโอกาสของการฟื้นตัวให้อาการกลับมาใกล้เคียงปกติได้ถึง 1.5 – 3 เท่า แต่ก็มีอาการข้างเคียงเนื่องจากการใช้ยาที่ต้องระวังคือ ความเสี่ยงของเลือดออกในสมองจะเพิ่มขึ้นประมาณ 6% เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยา
  • ยาแอสไพริน การให้ยาแอสไพรินจะต้องให้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ ในขนาดอย่างน้อย 160 มิลลิกรัมต่อวัน จึงจะสามารถช่วยลดโอกาสของการตีบตันซ้ำของหลอดเลือดสมองได้ และลดอัตราการเสียชีวิตได้
สมุนไพรที่ใช้รักษาโรคอัมพฤกษ์

สมุนไพรรักษาโรคอัมพฤกษ์
  • สมุนไพรคำฝอย
  • สมุนไพรดีปลี
  • สมุนไพรปลาไหลเผือก

เป็นสมุนไพรที่ช่วยลดไขมันในเลือดทำให้โอกาสเกิดการอุดตันของเส้นเลือดในสมองน้อยลง