วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

กาฬโรค (Plague) คืออะไร


หากจะกล่าวถึงโรคระบาดที่ก่อความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ คงจะหนีไม่พ้น “กาฬโรค” หรือ “โรคห่า” ซึ่งเป็นคำที่คนไทยเรานิยมใช้เรียกกันจนกลายเป็นคำด่ามาจนถึงปัจจุบัน กาฬโรคเป็นโรคติดเชื้อที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิตของผู้ป่วย เป็นโรคประเภท zoonosis คือมีสัตว์เป็นพาหะแล้วแพร่กระจายเชื้อโรคจนมาสู่คน เชื้อโรคนี้จะอยู่ในสัตว์ฟันแทะ และมีหมัดเป็นตัวแพร่สู่มนุษย์ เนื่องจากขอบเขตการเสียชีวิตและการทำลายล้างที่ไม่มีโรคอื่นเทียบได้ ส่งผลให้โรคนี้เป็นที่รู้จักกันดีตลอดประวัติศาสตร์ และยังเป็นหนึ่งในโรคระบาดที่หากพบเจอจะต้องรายงานต่อองค์การอนามัยโลกอีกด้วย

กาฬโรค

ตามประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้ว่า โรคนี้น่าเกิดขึ้นในแถบเอเชียกลางและแพร่มาตามเส้นทางสายไหม สำหรับในบ้านเรา พบการระบาดของกาฬโรคครั้งแรกในปีพ.ศ. 2447 โดยเจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล ซึ่งพบผู้เสียชีวิตที่ต้องสงสัยว่ามีสาเหตุมาจากการติดเชื้อกาฬโรค โดยสันนิษฐานว่าติดมาจากหนูซึ่งอาศัยอยู่บนเรือสินค้าที่เดินทางมาจากเมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย

ถึงแม้ว่ากาฬโรคจะยังระบาดอยู่ในบางพื้นที่ของโลก แต่ปัจจุบันโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบเร็ว โดยโรคนี้สามารถแพร่กระจายได้ในหลายๆทาง เช่นในอากาศผ่านทางระบบทางเดินหายใจ การสัมผัสโดยตรงทางผิวหนัง และในอาหารหรือวัสดุที่ปนเปื้อนมา

สาเหตุของกาฬโรคมีอะไรบ้าง

จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่ากาฬโรคเป็นหนึ่งในเพชฌฆาตตัวร้าย ที่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งตัวต้นเหตุของโรคนี้ก็คือ เชื้อเอ็นเทอโรแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า “Yersinia pestis” และด้วยความที่เชื้อชนิดนี้สามารถแพร่กระจายไปสู่ทั้งคนและสัตว์ เมื่อครั้งอดีตในสมัยที่วิทยาการทางการแพทย์ยังล้าสมัย โรคนี้จึงถือเป็นความน่ากลัวหนึ่งของเหล่ามวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงยุคมืดของยุโรป มีประชากรถึงหนึ่งในสามเลยทีเดียวที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับโรคระบาดร้ายแรงนี้


สัตว์ชนิดใดบ้างที่ติดกาฬโรคได้

จากที่ได้กล่าวในข้างต้นว่ากาฬโรคสามารถติดต่อได้ทั้งคนและสัตว์ ดังนั้นเราจะมาศึกษาสาเหตุของโรคโดยเริ่มจากดูว่ามีสัตว์ชนิดใดบ้างที่สามารถติดโรคนี้ได้

เชื้อกาฬโรคเป็นเชื้อที่พบได้ตามธรรมชาติ มีสัตว์จำนวนมากกว่า 200 ชนิดที่สามารถติดเชื้อโรคชนิดนี้ได้
  • สัตว์ฟันแทะในป่า เช่น กระรอก กระจง หนู แมว กระแต
  • สัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น กระต่าย แพะ แกะ อูฐ

สัตว์ติดกาฬโรคได้อย่างไร

โดยทั่วไปเชื้อกาฬโรคจะแพร่จากสัตว์ไปสู่สัตว์ได้ โดยการถูกหมัดที่มีเชื้อกาฬโรคกัด แต่ในกรณีของสัตว์กินเนื้อสามารถติดเชื้อได้โดยตรงจากการกินสัตว์ฟันแทะที่ติดเชื้อ


กาฬโรคมีผลต่อสัตว์อย่างไร

โดยปกติแล้วเชื้อกาฬโรคไม่ได้ส่งผลที่รุนแรงนักกับสัตว์ฟันแทะ เชื้อโรคมีผลทำให้สัตว์เหล่านั้นป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่นเดียวกันในกรณีของสัตว์กินเนื้อ เมื่อติดเชื้อแล้วก็จะไม่แม้แต่แสดงอาการป่วยใดๆ แต่เมื่อใดที่มีการระบาดของโรคเกิดขึ้นก็จะทำให้มีสัตว์ตายเกิดขึ้น เพราะสัตว์ชนิดอื่น ๆ เช่น แมว เมื่อติดเชื้อแล้วจะส่งผลที่ค่อนข้างร้ายแรง ทำให้มีไข้ต่อมน้ำเหลือง อาการเหลืองบวม และอาจเป็นฝีในอวัยวะภายใน ซึ่งอาจส่งผลให้ตายโดยเฉียบพลันได้


การติดเชื้อกาฬโรคในคน

คนเรานั้นโดยทั่วไปสามารถติดเชื้อกาฬโรคหลายทาง ดังนี้
  • ถูกหมัดกัด (พบบ่อยที่สุด)
  • สัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ติดเชื้อ
  • สูดเอาเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางลมหายใจ
  • การถ่ายเทเลือดและสารคัดหลั่งระหว่างผู้มีเชื้อกับบุคคลอื่น

กาฬโรคมีอาการอย่างไร

เมื่อเราได้รับเชื้อกาฬโรคเข้าสู่ร่างกายแล้ว โดยปกติร่างกายจะยังไม่แสดงอาการใดๆ ออกมา จนกว่าเชื้อโรคจะผ่านระยะฝักตัวซึ่งจะกินเวลาประมาณ 2-6 วัน ซึ่งอาการที่แสดงทางคลินิกนั้นจะมีความหลากหลายขึ้นกับบริเวณที่ติดเชื้อ โดยได้จำแนกกาฬโรคออกเป็นชนิดต่างๆ ดังนี้

1.กาฬโรคของต่อมน้ำเหลือง

กาฬโรค ต่อมน้ำเหลือง
เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด และสามารถติดต่อกันได้โดยตรงจากคนไปสู่คนแต่ไม่ใช่ในทุกระยะของโรค โดยจะติดต่อกันได้เพียงในระยะที่มีอาการปอดบวมซึ่งถือว่าเป็นระยะสุดท้ายของโรคเท่านั้น ซึ่งเชื้อโรคจะแพร่กระจายทางอากาศ และติดต่อกันได้ทางระบบทางเดินหายใจผ่านการไอ จาม หรือจากเสมหะของผู้ป่วยเป็นหลัก

อาการของผู้ป่วยจะเกิดขึ้นโดยเฉียบพลันทันที โดยมีไข้สูง ปวดศีรษะ มีอาการหนาวสั่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย ต่อมน้ำเหลืองในบริเวณต่างๆ เช่น รักแร้ ขาหนีบ ขากรรไกร มีอาการบวมโตและอักเสบจนเป็นหนอง โดยอาจมีขนาดตั้งแต่เท่าเมล็ดถั่วไปจนถึงเท่าไข่เป็ดเลยก็ได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสามารถมีอาการทางสมองร่วมด้วย เริ่มตั้งแต่อาการมึนศีรษะ จนถึงการเพ้อคลั่งไม่ได้สติ หรืออาจจะร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตเลยทีเดียว


2.กาฬโรคของโลหิต

กาฬโรค ต่อมน้ำเหลือง

หลังจากที่ผู้ป่วยได้มีการติดเชื้อกาฬโรคที่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว เชื้อยังสามารถลุกลามต่อเข้าไปในกระแสเลือดได้ ส่งผลให้มีอาการของภาวะโลหิตเป็นพิษ(Uremia) ตามมา โดยจะมีเลือดออกตามเยื่อบุอ่อน ที่ริมฝีปาก ตา นอกจากนี้ยังมีจ้ำเลือดออกตามตัวเป็นสีออกคล้ำๆ ดำๆ และด้วยอาการนี้เองทำให้กาฬโรคมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “black death” โดยถือว่าเป็นกาฬโรคชนิดร้ายแรง เนื่องจากภายใน 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้ หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้

3.กาฬโรคของปอด

กาฬโรคปอด
เป็นชนิดที่ถือว่าร้ายแรงที่สุด กาฬโรคชนิดนี้สามารถติดต่อได้โดยตรงจากคนสู่คนผ่านทางลมหายใจ อาการโดยทั่วไปคือ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง เจ็บหน้าอก ไอ มีเสมหะที่มีลักษณะเหนียวใสในตอนแรก แล้วกลายเป็นสีสนิมหรือแดงสดในภายหลัง เพราะเชื้อจะเข้าไปทำลายปอดโดยตรง แต่มักไม่พบปื้นแผลที่ปอด ปอดบวมอักเสบเฉียบพลัน มีอาการเขียวคลํ้าของผิวหนัง (Cyanosis) ความดันโลหิตต่ำ หมดสติได้ และอาจเสียชีวิตได้ภายใน 48 ชั่วโมงหากไม่ได้รับการรักษา


จะสังเกตได้ว่าอาการของกาฬโรคนั้นมีความคล้ายคลึงกับโรคอื่นหลายๆโรค โดยเฉพาะโรคจำพวกปอดอักเสบ มาลาเรีย ไทฟัส ดังนั้นเราอาจจะมีวิธีสังเกตง่ายๆ เพื่อจำแนกโรคได้โดยการซักประวัติ เช่น มีประวัติเพิ่งกลับจากประเทศสุ่มเสี่ยง หรือมีการสัมผัสกับสัตว์พาหะนำโรค นอกจากนี้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจะช่วยในการวินิจฉัยอีกทางหนึ่งด้วย


การรักษากาฬโรค

วิธีรักษากาฬโรค
ผู้ป่วยกาฬโรคนั้นไม่สามารถหายได้เอง ดังนั้นหากไม่ได้รับการรักษาจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงเกือบ 100 % โดยปกติการรักษาจะใช้ยาปฏิชีวนะที่มีอยู่ทั่วไปโดยมี สเตรปโตไมซิน เป็นยาหลัก โดยผู้ป่วยควรได้รับยาภายในเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังจากเริ่มแสดงอาการของโรคเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี นอกจากนี้ยังอาจจำเป็นต้องให้การรักษาตามอาการ การรักษาแบบประคับประคอง และการรักษาโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นตามความจำเป็น

ในส่วนของการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยนั้น จำเป็นต้องมีการดูแลแบบพิเศษต่างจากคนไข้โรคอื่น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ดังนั้นจนกว่าจะได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องโดนแยกให้อยู่ในสถานที่ซึ่งไม่อาจแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ รวมถึงเสื้อผ้า ของใช้ต่างๆ ของผู้ป่วยก็ต้องได้รับการทำความสะอาดเพื่อให้ปราศจากเชื้อโรค รวมถึงหมัดหนูซึ่งเป็นพาหะ


ยาที่ใช้ในการรักษากาฬโรค

ยารักษากาฬโรค

ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษากาฬโรคได้แก่
  1. สเตรปโตมัยซิน
  2. คลอแรมเฟนิคอล
  3. เตตราซัยคลีน
  4. โคไตรม็อกซาโซล
นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันการติดเชื้อได้โดยการฉีดวัคซีน แต่เนื่องจากการเตรียมที่ค่อนข้างยุ่งยาก มีผลข้างเคียงมาก และสามารถให้ภูมิคุ้มกันได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น การฉีดวัคซีนจึงไม่เป็นที่นิยม ปัจจุบันจะฉีดให้เฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อกาฬโรค ในกรณีที่มีการระบาดของโรคที่รุนแรงเท่านั้น


สมุนไพรที่ใช้รักษากาฬโรค

ปลาไหลเผือกน้อย –มีคนกล่าวไว้ว่ารากของปลาไหลเผือกน้อยมีสรรพคุณมากมาย เช่น แก้ไข้ แก้ลม ถ่ายฝีในท้อง ขับเหงื่อ ขับพยาธิ แก้เจ็บคอ รักษาความดันโลหิตสูง และที่สำคัญคือแก้กาฬโรคได้