วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

มะเร็งกระเพาะอาหาร (Stomach cancer)คืออะไร


เมื่อเรารับประทานอาหารเข้ามาผ่านทางปาก หลังจากผ่านการเคี้ยวและกลืนเข้ามาสู่คอหอย และส่งต่อไปยัง หลอดอาหารแล้ว อาหารจะถูกส่งต่อไปย่อยและดูดซึมต่อที่กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ตามลำดับ

กระเพาะอาหารเป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญในระบบทางเดินอาหารของร่างกาย อยู่ในบริเวณช่องท้องส่วนบนระหว่างหลอดอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นมีลักษณะเฉพาะเป็นรูปตัวเจ ประกอบไปด้วย 3 ชั้นของเนื้อเยื่อ ได้แก่ เยื่อเมือก (Mucosa) เป็นเยื่อบุชั้นในสุดของกระเพาะอาหาร ถัดมาคือชั้นกล้ามเนื้อ ซึ่งอยู่ตรงกลาง และชั้นสุดท้าย เป็นชั้นนอกสุด คือชั้นของเยื่อเลื่อม (Serosa) เป็นส่วนที่ปกคลุมในส่วนด้านนอกสุดของกระเพาะอาหาร หน้าที่สำคัญของกระเพาะอาหารคือการย่อยสลายสารโมเลกุลใหญ่ให้เล็กลง โดยอาศัยการทำงานของกรดเกลือ เพื่อให้สารอาหารต่างๆ สามารถถูกดูดซึมได้ง่ายขึ้นเมื่อไปถึงที่ลำไส้เล็ก นอกจากนี้กระเพาะอาหารยังมีหน้าที่สร้างเอนไซม์เปปซิน ที่ใช้ในการย่อยโปรตีน รวมไปถึงการดูดซึมน้ำ ไอออนต่างๆ คาเฟอีน แอลกอฮอล์ และแอสไพริน อีกด้วย
 
มะเร็งกระเพาะอาหาร



สำหรับมะเร็งกระเพาะอาหารนั้นสามารถเกิดได้กับเซลล์ทุกส่วนของกระเพาะอาหาร ซึ่งเกิดจากเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารมีการแบ่งตัวมากขึ้นอย่างผิดปกติ ไม่สามารถควบคุมได้ และยังสามารถแพร่กระจาย รุกล้ำไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง เช่น ตับ ตับอ่อน หลอดอาหาร ลำไส้ ปอด รังไข่ รวมไปถึงต่อมน้ำเหลืองได้อีกด้วย โดยทั่วไปเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในเพศชาย วัยกลางคน(อายุมากกว่า 40 ปี) ซึ่งพบมากในประชาชนแถบเอเชียมากกว่าในแถบอื่น


ชนิดของมะเร็งกระเพาะอาหาร
1.Adenocarcinoma

เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด โดยโรคมะเร็งจะเริ่มที่ glandular cells หรือ เซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นต่อมโดยเซลล์ชนิดนี้จะวางเรียงตัวอยู่ภายในกระเพาะอาหาร และทำหน้าที่ในการหลั่งเยื่อเมือก เพื่อปกป้องพื้นผิวกระเพาะจากกรดในน้ำย่อยของกระเพาะอาหาร
2.Lymphoma

เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารที่เริ่มจากเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ซึ่งผนังของกระเพาะอาหารจะมีเซลล์ชนิดนี้เป็นส่วนประกอบอยู่เป็นจำนวนเล็กน้อย
3.Carcinoid cancer

โรคมะเร็งจะเริ่มจากเซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน โดยมะเร็งกระเพาะอาหารชนิดนี้พบได้น้อยมาก
4.A gastrointestinal stromal tumor (GIST)

เป็นโรคมะเร็งที่เริ่มต้นจากเซลล์ของเนื้อเยื่อในระบบประสาท มีการแบ่งตัวผิดปกติ โดยเป็นมะเร็งกระเพาะอาการชนิดที่พบได้น้อยมากเช่นกัน


สาเหตุของมะเร็งกระเพาะอาหารมีอะไรบ้าง

ปัจจุบันยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามะเร็งกระเพาะอาหารเกิดจากสาเหตุใด แต่จากการศึกษาพบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ ดังนี้
  • การรับประทานอาหารที่เค็มมากๆ อาหารหมักดอง อาหารตากเกลือ รวมถึงอาหารประเภทปิ้งย่างรมควัน
  • การไม่ค่อยรับประทานอาหารประเภทผักและผลไม้
  • การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนไปด้วยเชื้อรา อะฟลาท็อกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมาก
  • ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • การติดเชื้อแบคที่เรียเฮริโคแบคเตอร์ไพโลรี(Helicobacter pylori) ซึ่งสามารถทำให้เกิดแผล และอาการอักเสบของกระเพาะอาหารได้
  • การเป็นโรคกระเพาะอักเสบเรื้อรังเป็นเวลานานๆ
  • ภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามิน B12
  • การสูบบุหรี่
  • ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • การมีติ่งเนื้อ(Polyp) ที่กระเพาะอาหาร
  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น
  • เพศชาย โดยมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิงประมาณ 2-3 เท่า
  • เชื้อชาติ มักพบได้บ่อยกว่าในแถบเอเชีย มากกว่าในแถบยุโรปและอเมริกา
  • อาชีพที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีบางชนิดที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้
  • ภาวะอ้วน หรือมีน้ำหนักเกิน โดยเฉพาะในเพศชาย

มะเร็งกระเพาะอาหารมีอาการอย่างไร

อาการมะเร็งกระเพาะอาหาร
เนื่องจากในระยะเริ่มต้นอาการของมะเร็งกระเพาะอาหารจะไม่มีความเฉพาะเจาะจงมากพอว่าเป็นโรคนี้ ดังนั้นโดยส่วนใหญ่โรคนี้จึงไม่สามารถถูกตรวจพบได้ในระยะแรก ซึ่งอาการที่สามารถพบได้มีดังนี้
  • อาหารไม่ย่อย
  • ภาวะแสบร้อนที่กลางอก หรือที่ลิ้นปี่
  • อาการปวด หรือรู้สึกว่าไม่สบายท้องและอาจคลำได้ก้อนเนื้อที่บริเวณลิ้นปี่
  • คลื่นไส้และอาเจียน โดยมักจะอาเจียนออกมาเป็นอาหารที่เพิ่งรับประทานเข้าไปได้ไม่นาน
  • ท้องเสีย หรือ ท้องผูก
  • อาการท้องบวมหลังจากรับประทานอาหาร
  • เบื่ออาหารหรือ ความรู้สึกไม่อยากอาหาร
  • รู้สึกถึงการติดขัดของอาหารที่ลำคอในระหว่างรับประทานอาหาร
โดยทั่วไปอาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับโรคในระบบทางเดินอาหารอื่นๆ ได้เช่นกัน ดังนั้นแพทย์จึงต้องซักประวัติอย่างระมัดระวัง เพื่อการวินิจฉัยโรคซึ่งเป็นสาเหตุของอาการได้อย่างถูกต้อง

อาการของมะเร็งกระเพาะอาหาร ในระยะที่โรคเป็นมากขึ้น มีดังนี้
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • อาเจียนเป็นเลือด หรือมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ
  • การที่น้ำหนักลดโดยหาสาเหตุไม่ได้

การรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร
 
วิธีรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร
การรักษาผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารมีหลายวิธี โดยแพทย์จะทำการเลือกวิธีที่เหมาะสม กับผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป ขึ้นกับระยะเวลาที่ผู้ป่วยเป็นโรค และการแพร่กระจายของมะเร็ง ซึ่งวิธีการรักษาหลักๆ มีดังนี้
1.การผ่าตัด(Surgery)

แพทย์อาจจะตัดบางส่วนของกระเพาะอาหาร รวมไปถึงเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆเซลล์มะเร็งออก เป้าหมายเป็นไปเพื่อหยุดยั้งมะเร็งในการแพร่กระจายไปยังบริเวณอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย ในผู้ป่วยบางรายที่อยู่ในระยะท้ายๆ แพทย์อาจจำเป็นต้องตัดกระเพาะอาหารออกทั้งหมด

ในบางรายเนื้องอกอาจปิดกั้นการเคลื่อนย้ายอาหารไม่ให้เข้าและออกจากกระเพาะอาหาร ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้ แพทย์อาจจำเป็นต้องใส่ขดลวด (stent) เพื่อใช้ในการขยายทางเดินอาหารให้เปิดออก

นอกจากนี้การผ่าตัดนั้นอาจจะมีผลข้างเคียงได้ คือ การมีเลือดออก การติดเชื้อ การสูญเสียอวัยวะ รวมถึงการบาดเจ็บจากการผ่าตัดไปโดนอวัยวะข้างเคียง และหากมีการตัดเอากระเพาะอาหารออกทั้งหมด ผู้ป่วยอาจจะประสบกับปัญหาในเรื่องการย่อยอาหารได้
2.การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy)

ยาเคมีจะทำการฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ผู้ป่วยอาจได้รับเป็นรูปของยาเม็ด หรือยาฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำ การทำเคมีบำบัดจะใช้ระยะเวลาหลายสัปดาห์ ซึ่งตัวยาเคมีจะมีผลข้างเคียง ได้แก่ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ภาวะซีด เกล็ดเลือดต่ำ ทำให้เลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆได้ง่าย เม็ดเลือดขาวต่ำ เนื่องจากยาไปกดการทำงานของไขกระดูก แต่โดยทั่วไปแพทย์จะมีวิธีเพื่อบรรเทาอาการต่างๆที่อาจเกิดขึ้นจากผลการรักษาได้
3.รังสีรักษา (Radiation)

เป็นการฉายรังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง หรือลดขนาดของเนื้อร้าย แพทย์อาจใช้รังสี X-ray หรืออุปกรณ์อื่นๆ เพื่อระบุตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง และใช้ทำการรักษาด้วยการฉายรังสีต่อไป

สำหรับผลข้างเคียงของการฉายรังสี คือการที่รังสีไปโดนผิวหนัง เนื้อเยื่อ หรืออวัยวะอื่นๆ ในช่องท้อง ที่ไม่ได้เป็นมะเร็ง ทำให้เกิดอันตรายไปด้วย
4.การใช้รังสีรักษาร่วมกับการฉายรังสี (Chemoradiation)

แพทย์อาจใช้ยาเคมีร่วมกับการฉายรังสีเพื่อลดขนาดของเนื้อร้าย ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการผ่าตัดต่อไป
5.การรักษาแบบเฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted therapy)

เป็นการใช้ยาชนิดใหม่ที่เฉพาะเจาะจงในการทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งโดยต่างจากการรักษาแบบอื่น เช่น เคมีบำบัด หรือ รังสีรักษา ที่ผลการรักษาสามารถทำลายเซลล์ปกติรอบๆเซลล์มะเร็งไปด้วยได้ นอกจากนี้ผลข้างเคียงของการรักษายังน้อยกว่าการรักษาแบบอื่นอีกด้วย ดังนั้นจึงเป็นอีกวิธีที่มีความน่าสนใจมากต่อการรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร
6.การรักษาประคับประคอง

ในผู้ป่วยบางรายที่ร่างกายอ่อนแอมากเกินไป ไม่มีความแข็งแรงมากพอที่จะรับการรักษาโดยวิธีการอื่นๆ ได้ แพทย์จะเลือกใช้การรักษาแบบนี้เพื่อบรรเทาอาการของผู้ป่วย โดยทั่วไปมักจะใช้กับผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารระยะสุดท้าย



ยาที่ใช้ในการรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร

ยาที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (the Food and Drug Administration หรือ FDA) เพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มีดังนี้
  • Adrucil (Fluorouracil)
  • Cyramza (Ramucirumab)
  • Docetaxel
  • Doxorubicin Hydrochloride
  • Efudex (Fluorouracil)
  • Fluoroplex (Fluorouracil)
  • Fluorouracil
  • Herceptin (Trastuzumab)
  • Mitomycin C
  • Mitozytrex (Mitomycin C)
  • Mutamycin (Mitomycin C)
  • Ramucirumab
  • Taxotere (Docetaxel)
  • Trastuzumab

สมุนไพรที่ใช้รักษามะเร็งกระเพาะอาหาร
  • ปัญจขันธ์หรือเจียวกู่หลาน

ในปีพุทธศักราช 2543 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ได้มีการค้นพบสารต้านอนุมูลอิสระถึง 3 ชนิดในปัญจขันธ์ หนึ่งในนั้นก็คือ โพลีฟีนอล ที่มีสรรพคุณในการป้องกันอนุมูลอิสระ ลดความเครียด ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ และมะเร็งของระบบทางเดินอาหาร อย่างมะเร็งลำไส้ รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหารอีกด้วย