วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

โรคลมพิษ (Urticaria) คืออะไร


ลมพิษคือกลุ่มอาการความผิดปกติที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง ประมาณร้อยละ 15 – 20 ของประชากรทั่วไปจะเคยมีผื่นลมพิษเกิดขึ้นอย่างน้อยซักครั้งหนึ่งในชีวิต ดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อย ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการแสดงทางผิวหนังเป็นลักษณะของผื่นนูนแดง ร่วมกับอาการคัน โดยความผิดปกตินี้มักจะเป็นอยู่ไม่เกิน 1-2 วัน จากนั้นผื่นก็สามารถยุบลงได้เอง และมักจะเป็นๆ หายๆ

โดยทั่วไปจะแบ่งเป็นสองชนิดตามระยะเวลาของการเป็นโรค ชนิดที่พบได้บ่อยกว่าคือ ชนิดที่มีอาการเป็นไม่เกิน 6 สัปดาห์ ซึ่งเรียกว่าลมพิษชนิดเฉียบพลัน ส่วนอีกชนิดจะพบน้อยกว่า และโดยมากมักจะพบในผู้หญิงวัยกลางคน คือลมพิษเรื้อรัง โดยระยะเวลาจะนานเกินกว่า 6 สัปดาห์


สาเหตุของโรคลมพิษมีอะไรบ้าง

โรคลมพิษ

สาเหตุที่ทำให้เป็นผื่นลมพิษมีหลากหลายมาก โดยส่วนใหญ่ในรายที่เพิ่งมีอาการเป็นครั้งแรกจะเกิดจากอาหารและยา ซึ่งอาการมักเกิดหลังจากรับประทานไม่กี่ชั่วโมง การหาสาเหตุของโรคจึงเป็นไปอย่างง่ายดาย เพราะตัวผู้ป่วยเองก็สามารถบอกได้ ต่างจากในผู้ป่วยรายที่เป็นมานาน มักจะหาสาเหตุได้ยากกว่า อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรจะทำสมุดบันทึกส่วนตัว เพื่อบันทึกว่าผื่นมักจะขึ้นในช่วงไหนของวัน หรือระหว่างการทำกิจกรรมใด หรือภายหลังการรับประทานอาหารหรือยาชนิดใด ก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยค้นหาสาเหตุของลมพิษได้

สาเหตุของโรคลมพิษสรุปคร่าวๆ ได้ ดังนี้
1.การติดเชื้อ

ไม่ว่าจะเป็นจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือแม้แต่จากพยาธิก็ตาม ล้วนสามารถเป็นสาเหตุให้เกิดลมพิษได้ ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้อาจเข้าสู่ร่างกายของเราได้ในหลายๆ ทาง ได้แก่ ทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจทางเดินปัสสาวะ และจากการสัมผัสเชื้อโรคโดยตรงทางผิวหนัง
2.สารเคมีปนเปื้อนจากอาหาร

ในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนเกิดอาการของผื่นลมพิษ สิ่งที่ผู้ป่วยรับประทานเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือยานั้น สามารถเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการได้ทั้งนั้น เช่น การปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงในผัก ผลไม้ ที่นำมาประกอบอาหาร ยาปฏิชีวนะที่อาจตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์ เป็นต้น
3.สภาพทางสิ่งแวดล้อม

ความร้อน ความเย็น แสงแดด สามารถเป็นสาเหตุทำให้เกิดผื่นลมพิษได้เช่นกัน

4.ยา

ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดใดก็ตาม ล้วนสามารถเป็นต้นเหตุทำให้เกิดผื่นลมพิษได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะจะพบบ่อยเป็นพิเศษ
5.สาเหตุอื่นๆ
  • การเป็นหวัด ฟันผุ ก็ทำให้เกิดผื่นลมพิษได้
  • ผู้ป่วยบางรายผื่นขึ้นตามรอยเกา หรือรอยขีดข่วนบนผิวหนัง หรือแม้กระทั่งผื่นที่ขึ้นตามรอยกดทับต่างๆ
  • น้ำแข็ง ฝุ่น เกสรดอกไม้

โรคลมพิษมีอาการอย่างไร

อาการโรคลมพิษ
อาการสำคัญทางคลินิกของลมพิษคือ ผื่นนูน บวม แดง มีลักษณะเป็นปื้นที่มีขอบเขตชัด รูปร่างกลม เป็นวงแหวน หรือเป็นขอบหยักโค้งล้อมรอบด้วยผื่นแดง ในผู้ป่วยบางราย ผื่นอาจจะมีสีซีดตรงกลาง โดยขนาดของผื่นจะมีตั้งแต่เป็นมิลลิเมตรไปจนถึงเซนติเมตร และมักมีอาการคันร่วมด้วย ซึ่งโดยทั่วไปผื่นลมพิษแต่ละอันนั้นจะยุบหายไปเอง ภายในเวลาไม่นาน หลังจากนั้นเมื่อหายแล้วจะไม่มีร่องรอยใดๆ หลงเหลืออยู่อีก

Anaphylactic shock เป็นอาการอื่นที่อาจพบร่วมกับลมพิษได้ โดยถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายได้ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการของลมพิษเฉียบพลัน ร่วมกับภาวะความดันต่ำ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน นอกจากนี้การบวมเฉพาะที่ (angioedema) ก็เป็นอีกอาการร่วมหนึ่งของผู้ป่วยลมพิษ


การรักษาโรคลมพิษ

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะการรักษาโรคลมพิษที่ไม่มีภาวะ anaphylactic shock

1.หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นสาเหตุก่อโรค
  • หลีกเลี่ยงภาวะที่อาจกระตุ้นให้เกิดผื่นลมพิษ เช่น ความเครียด อากาศร้อน แอลกอฮอล์ ยาบางประเภท เช่น opiates NSAIDS แอสไพริน และ ACE inhibitors
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ใส่สารปรุงแต่ง เช่น สีผสมอาหาร วัตถุกันเสีย
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานวิตามิน ยาบำรุง สมุนไพร และอาหารเสริมที่ไม่จำเป็น
2.ทำการรักษาโรคอื่นที่เป็นอยู่

ถึงแม้ว่าจะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่ผื่นลมพิษสามารถเป็นอาการแสดงทางผิวหนังของโรคอื่นๆ ที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ได้ เช่น ลมพิษเรื้อรังที่พบในผู้ป่วย autoimmune thyroid disease

3.การรักษาเฉพาะที่

  • การประคบหรืออาบด้วยน้ำเย็น สามารถช่วยลดอาการคันได้ แต่วิธีนี้ห้ามใช้ในผู้ป่วยลมพิษรายที่มีสาเหตุจากความเย็น
  • โลชั่น หรือ แป้งเย็น ทีมีเมนทอลเป็นส่วนประกอบ เช่น คาลามายด์ สามารถใช้ทาเพื่อลดอาการคันได้เช่นกัน แต่ต้องระวังไม่ใช้ในปริมาณมากไป เพราะอาจทำให้ผิวหนังแห้ง ส่งผลให้ยิ่งคันได้
4.การใช้ยาในการรักษา
  • ยาต้านฮีสตามีน H1 receptor
  • ยาต้านฮีสตามีนที่ H2 receptor
  • Tricyclic antidepressant Doxepin
  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน
  • Anabolic steroids
  • Ketotifen
  • ยากลุ่ม immunosuppressive
  • ยาประเภท antileukotriene

ยาที่ใช้ในการรักษาโรคลมพิษ
  • ยาต้านฮีสตามีนที่ H1 receptor
เป็นยาตัวหลักอันดับหนึ่งที่เลือกใช้รักษาลมพิษเฉียบพลันและลมพิษเรื้อรัง เช่น loratadine, fexofenadine, desloratadine
  • ยาต้านฮีสตามีนที่ H2 receptor
มีประมาณ 15% ของ receptor ที่ผิวหนังเป็นชนิด H2 receptor ดังนั้นในผู้ป่วยลมพิษบางคนที่ได้รับเฉพาะยาต้านฮีสตามีนที่ H1 receptor อย่างเดียว จึงไม่สามารถมีผลการรักษาที่น่าพอใจได้ ดังนั้นการเพิ่มการรักษาด้วยยาต้านที่ H2 receptor ร่วมกับยาต้านที่ H1 receptor จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในผู้ป่วยลมพิษบางราย
  • Tricyclic antidepressant Doxepin
เป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านทั้งฮีสตามีนที่ H1 และ H2 receptor โดยทั่วไปใช้ในผู้ป่วยลมพิษชนิดเรื้อรัง หรือในผู้ป่วยลมพิษที่มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย ซึ่งมีผลข้างเคียงที่ต้องระวังคือทำให้ง่วงซึม ปากแห้งและท้องผูกได้
  • Ketotifen (Zaditen®)
นอกจากเป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านฮีสตามีน และยังเป็น mast cell stabilizer ทำให้ได้ผลดีในการรักษาลมพิษชนิดเรื้อรัง cholinergic urticaria และ physical urticaria โดยรับประทานวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ1-2 มิลลิกรัม
5.คอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน
  • อาจใช้ในผู้ป่วยลมพิษเรื้อรัง เฉพาะในรายที่มีการดื้อยาต่อการรักษา โดยต้องให้เพียงระยะสั้น
  • อาจใช้ในลมพิษชนิดเฉียบพลันรุนแรงที่มีภาวะ anaphylaxic shock
6.Anabolic steroids
  • เช่น danazol (200-600 มิลลิกรัมต่อวัน), stanozolol (2 มิลลิกรัมต่อวัน)
  • ใช้ป้องกันผื่นลมพิษในผู้ป่วย hereditary angioedema
7.ในการรักษาลมพิษที่มีอาการรุนแรง หรือดื้อต่อการรักษา สามารถใช้ยาต่อไปนี้
  • ยากลุ่ม immunosuppressive เช่น tacrolimus, azathioprine, cyclosporine, methotrexate, cyclophosphamide, mycophenolate mofetil, intravenous immunoglobulin (IVIG), interferon-α (IFN- α)
  • ยาประเภท antileukotriene เช่น zileuton, 5-lipooxygenase inhibitor เช่น zafirlukast montelukast

สมุนไพรที่ใช้รักษาโรคลมพิษ

สมุนไพรที่สามารถนำมาใช้รักษาโรคลมพิษนั้นมีทั้งในรูปแบบของชนิดทา และชนิดรับประทาน ดังนี้
1.สมุนไพรชนิดทา
  • เกลือธรรมชาติ ผื่นคันที่เกิดจากการแพ้อาหาร หรือสารต่างๆนั้น สามารถรักษาได้โดยใช้เกลือป่น ที่มาจากธรรมชาติ นำมาละลายน้ำ จากนั้นใช้ผ้าหรือสำลีชุบน้ำเกลือแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น 5- 10 นาที เพียงเท่านี้อาการลมพิษจะดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ
  • มะนาว
  • นำมะนาวที่ผ่านการฝานบางๆ มาตบเบาๆ ที่บริเวณผื่นลมพิษ
  • ผสมน้ำมะนาวกับน้ำสะอาด จากนั้นนำผ้าขนหนูมาชุบเพื่อใช้ประคบบริเวณผื่น
  • หัวผักกาด ประคบบริเวณผื่นด้วยหัวผักกาดฝานที่ห่อด้วยผ้าบางๆ
  • น้าผึ้ง ใช้น้ำผึ้งเจือจางทาบริเวณผื่นลมพิษ
  • เปลือกล้วยน้ำว้าสุก ถูบริเวณผื่นลมพิษด้วยเปลือกกล้วยน้ำว้าสุก
  • สีเสียด นำสีเสียดมาผสมกับปูนแดง (แบบที่ใช้รับประทานกับหมาก) มาใส่น้ำพอหมาด ใช้ทาบริเวณที่เป็นผื่นลมพิษ
  • ใบพลู ตำใบพลูให้ละเอียด ผสมกับเหล้าขาว ใช้ทาบริเวณที่เป็นลมพิษ
  • หัวข่าแก่ ตำหัวข่าแก่ให้ละเอียด ผสมเหล้าขาว ใช้มาทาบริเวณที่เป็นลมพิษ
  • เสลดพังพอน ตำใบและหรือต้นของเสลดพังพอนให้ละเอียด นำมาผสมกับแป้งดินสอพองและเหล้า ใช้ทาบริเวณที่เป็นลมพิษ
2.สมุนไพรชนิดกิน
  • ใบขิงสด ใบพริกไทย ใบคนทีสอนำใบของสมุนไพรข้างต้นมาอย่างละเจ็ดใบ ตำรวมกันให้ละเอียด แล้วคั้นเอาน้ำที่ได้มาดื่มเพื่อแก้ลมพิษ
  • ต้นขลู่นา สามารถใช้ได้ทั้งสามส่วนของต้นขลู่นา ทั้งราก ใบ และดอก โดยมาต้มรวมกันในน้ำสะอาดเพื่อดื่มบ่อยๆ นอกจากสรรพคุณการรักษาลมพิษแล้ว ยังสามารถด้วยขับปัสสาวะอีกด้วย