วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561

ตาบอดสี (Color blindness) คืออะไร



ตาบอดสี เป็นภาวะความปกติทางการมองเห็น ถือว่าเป็นภาวะที่พบได้บ่อย ซึ่งส่วนมากจะพบในผู้ชาย โดยคิดเป็นประมาณร้อยละ 8 ของประชากรทั้งหมด แต่ในผู้หญิงสามารถพบได้เพียงประมาณร้อยละ 4 เท่านั้น

ตาบอดสี เป็นภาวะที่ตาของผู้ป่วยไม่สามารถแปรผลของภาพสีได้อย่างถูกต้องเหมือนคนปกติทั่วๆไป ทำให้มีปัญหาในการแยกแยะสีของวัตถุบางอย่าง โดยผู้ที่มีความผิดปกตินี้จะไม่ใช่ไม่สามารถรับรู้สีใด ๆ ได้เลยอย่างที่มีคนเข้าใจผิด แต่แท้จริงแล้วจะมีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีอาการรุนแรงมากๆ จนกระทั่งเห็นภาพต่างๆ เป็นสีขาวดำ

ตาบอดสี

โดยทั่วไปผู้ที่ตาบอดสีจะสามารถรับรู้สีได้ แต่ด้วยความผิดปกติทำให้ไม่สามารถแยกสีมีความคล้ายกันได้ เช่น ผู้ที่ตาบอดสีแดงอาจเห็นวัตถุนั้นเป็นสีอื่น ไม่เห็นว่าเป็นสีแดงเหมือนคนปกติ แต่เนื่องจากได้รับการสอนมาตั้งแต่เด็กว่าสีแบบนี้เป็นสีแดง เขาจึงสามารถบอกได้ถูกต้องว่าวัตถุนั้นเป็นสีแดง ด้วยเหตุนี้เองผู้ป่วยจึงไม่ยอมรับเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าตาบอดสีแดง และเพื่อลดปัญหาในการใช้ชีวิตลงไม่มากก็น้อย ผู้ที่ตาบอดสีจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์เรียนรู้ แต่ถึงอย่างนั้นในการประกอบอาชีพบางอย่างที่จำเป็นต้องใช้ความแตกต่างของสีในการบอกสัญลักษณ์ก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ดีในผู้ที่ตาบอดสี

กลไกการมองเห็นสีของตาคน

โดยปกติกลไกการมองเห็นสีของคนเราจำเป็นต้องอาศัยเซลล์รับแสงอยู่ 2 กลุ่มที่จอประสาทตา

กลุ่มแรกคือ rods หรือกลุ่มเซลล์รูปแท่ง ทำหน้าที่รับแสง มีไว้รับรู้ถึงความมืดหรือสว่าง โดยเซลล์กลุ่มนี้จะไวมากต่อการกระตุ้น แม้มีแสงเพียงเล็กน้อยก็สามารถรู้ได้ แต่เป็นเซลล์ที่ไม่สามารถแยกสีได้

กลุ่มที่สองเรียกว่า cones หรือเซลล์รูปกรวย เป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่มองเห็นสีต่างๆ ซึ่งเซลล์กลุ่มนี้จะแยกตามระดับคลื่นแสงหรือสีที่กระตุ้นออกเป็น 3 ชนิด ประกอบไปด้วย เซลล์รับแสงสีแดง เซลล์รับแสงสีน้ำเงิน และเซลล์รับแสงสีเขียว ส่วนแสงสีอื่นๆ นั้น เกิดจากการกระตุ้นเซลล์ดังกล่าวเหล่านี้มากกว่าหนึ่งชนิด จากนั้นสมองจึงแปลภาพออกมาเป็นสีที่ต้องการ เช่น การกระตุ้นทั้งเซลล์รับแสงสีแดง และเซลล์รับแสงสีน้ำเงิน พร้อมๆกัน ในระดับที่พอๆ จะทำให้เห็นเป็นแสงสีม่วง

ดังนั้นเมื่ออยู่ในบริเวณที่สลัวๆ เราจึงไม่สามารถแยกสีของวัตถุได้แต่ยังพอบอกรูปร่างได้ เนื่องจากมีการทำงานของกลุ่มเซลล์รูปแท่งอยู่ และเมื่อเพิ่มแสงสว่างขึ้น เราจะสามารถมองเห็นสีต่างๆ ขึ้นมาได้เนื่องจากเริ่มมีการทำงานของกลุ่มเซลล์รูปกรวย

สาเหตุของตาบอดสีมีอะไรบ้าง


สำหรับสาเหตุของการเกิดภาวะตาบอดสีนั้น แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มที่มีความผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด

ในคนปกติทั่วไป จะมีเซลล์รับแสงที่จอประสาทตาครบทั้ง 3 สี มีปริมาณเม็ดสีในจำนวนที่เป็นปกติ ส่งผลให้ระบบการแปรผลของภาพสีเป็นไปได้อย่างถูกต้อง แต่ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะมีการมองเห็นสีที่ผิดปกติเหมือนกันในตาทั้ง 2 ข้าง โดยเป็นความผิดปกติคงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เกิดจากความผิดปกติของเม็ดสีและเซลล์รับแสงสีเขียวหรือแดง โดยทั่วไปจะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงเนื่องจากเม็ดสีที่ผิดปกติ (สีเขียวและสีแดง)นั้นถูกควบคุมด้วยยีนบนโครโมโซม x ทำให้มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แบบ x – link recessive จากแม่ไปสู่ลูกชาย ส่วนแสงสีน้ำเงินจะแตกต่างออกไป เพราะถูกควบคุมด้วยยีนบนโครโมโซมที่ 7 ซึ่งเป็นโครโมโซมร่างกาย มีการถ่ายทอดแบบ Autosomal dominant โอกาสการถ่ายทอดจึงเท่ากันในทั้งสองเพศ และโดยทั่วไปผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถพบได้ไม่บ่อยนัก


การถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบ x – link recessive

โอกาสการเป็นโรคที่มีถ่ายทอดทางพันธุกรรมชนิดนี้ จะขึ้นกับเพศเป็นหลัก โดยปกติในผู้หญิงนั้นจะมีโครโมโซมเพศ คือ xx โดยจะได้รับโครโมโซม x ที่ถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่อย่างละตัว ทำให้โอกาสที่จะตาบอดสีนั้นมีน้อยมาก เพราะโครโมโซมทั้งสองตัวที่ได้รับมาต้องผิดปกติทั้งคู่จึงจะเป็นโรค (พ่อต้องตาบอดสีเท่านั้น ส่วนแม่อาจจะตาบอดสีหรือแค่เป็นพาหะก็ได้) ต่างกับผู้ชายซึ่งมีโครโมโซมเพศเป็น xy ซึ่งจะรับโครโมโซม x มาจากแม่ และโครโมโซม y จากพ่อ ดังนั้นในกรณีที่แม่เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมชนิดนี้ ลูกชายจะเป็นโรคด้วย เพราะผู้ชายมีโครโมโซม x เพียงตัวเดียว ทำให้จำเป็นต้องได้รับโครโมโซม x ของแม่ที่ถ่ายทอดความผิดปกติมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2.กลุ่มที่มีความผิดปกติที่เกิดขึ้นมาภายหลัง

ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะเกิดภาวะตาบอดสีเนื่องจากจอประสาทตา เส้นประสาทตา หรือส่วนรับรู้ด้านการมองเห็นในสมองได้ถูกทำลายไป โดยทั่วไปอาจเกิดได้จากสาเหตุต่อไปนี้ เช่น การอักเสบ การขาดเลือดไปเลี้ยง การบาดเจ็บเนื่องจากอุบัติเหตุ เนื้องอก การเสื่อมลงของจอประสาทตาเอง รวมถึงอาจเป็นผลข้างเคียงของยาหรือสารเคมีก็ได้


ตาบอดสีมีอาการอย่างไร

อาการตาบอดสี
ในผู้ที่ตาบอดสีมาตั้งแต่กำเนิด อาการจะคงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและเป็นเท่ากันในตาทั้งสองข้าง โดยชนิดที่พบบ่อยที่สุด คือ red/green color blindness ซึ่งผู้ป่วยจะมีความยากลำบากในการแยกสีแดงและสีเขียว โดยมักจะเป็นมากในเวลาที่แสงสว่างไม่เพียงพอ มีเพียงบางส่วนของผู้ที่ตาบอดสีเท่านั้นที่ไม่สามารถแยกสีน้ำเงินกับสีเหลือง นอกจากนี้ก็ยังมีบ้างเหมือนกันที่ผู้ป่วยจะมีภาวะของตาบอดสีทุกสีเลย โดยจะเห็นทุกอย่างเป็นภาพขาวดำ อย่างไรก็ตามภาวะตาบอดสีนั้น ไม่ได้มีผลต่อการมองเห็นภาพชัดแต่อย่างใด เพราะผู้ป่วยจะยังคงมีสายตาที่เป็นปกติ เพียงแต่ไม่สามารถแยกแยะสีได้อย่างปกติก็เท่านั้น

ส่วนในกลุ่มที่มีความผิดปกติที่เกิดขึ้นมาภายหลัง โดยมากพบความผิดปกติของการมองสีน้ำเงินกับสีเหลืองมากกว่าสีแดงกับสีเขียว โดยจะมีอาการคือ การเห็นสีหรือเรียกชื่อสีผิดไปจากเดิม ซึ่งความผิดปกตินี้จะเกิดขึ้นแบบไม่เท่ากันในตาทั้ง 2 ข้าง และอาจเป็นเพียงข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง นอกจากนี้อาการตาบอดสียังสามารถมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลงได้ รวมถึงการมีความผิดปกติทางสายตาด้านอื่นๆ เกิดร่วมได้เช่นกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค


การรักษาตาบอดสี

วิธีรักษาตาบอดสี
โดยทั่วไปภาวะตาบอดสีที่เป็นมาแต่กำเนิดนั้น ไม่สามารถรักษาให้หายได้ เพราะเราไม่สามารถหาเซลล์รูปกรวยสีต่างๆ มาแทนในส่วนที่ขาดหายไปได้ แต่ก็มีเลนส์บางชนิดที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยสามารถแยกสีได้ดีขึ้นได้ โดยเลนส์พวกนี้จะอาศัยหลักการเพิ่มความเข้มของสีหนึ่งให้ต่างจากอีกสีหนึ่ง ทำให้ผู้นั้นเห็นความแตกต่างของสีได้ เช่น ในคนตาบอดสีแดง จะใช้แว่นเลนส์สีน้ำตาลช่วยให้เห็นสีแดงเด่นชัดขึ้น ช่วยให้สามารถแยกสีแดงจากสีเขียวได้ง่ายขึ้น เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม หลักการนี้ใช้ไม่ได้กับผู้ที่ตาบอดสีเขียว เราไม่สามารถใช้เลนส์สีเขียวเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเห็นสีเขียวได้ชัดเจนขึ้นได้ เนื่องจากแสงสีเขียวผ่านเลนส์ได้ยาก อีกทั้งยังเป็นตัวลดแสงสีอื่นๆ ส่งผลต่อความชัดเจนในการมองภาพ จึงไม่เหมาะที่จะใช้เลนส์สีเขียวแก้ภาวะตาบอดสีเขียว

ส่วนในกรณีของผู้ป่วยตาบอดสีที่เกิดในภายหลังนั้น มีวิธีรักษาโดยการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของภาวะตาบอดสี ซึ่งโดยทั่วไปอาจจะทำให้การเห็นสีดีขึ้น หรืออาจไม่ได้ผลก็เป็นได้

อย่างไรก็ตามการหายจากภาวะตาบอดสีก็ใช่ว่าจะไม่มีความเป็นไปได้เลยทีเดียว เพราะเมื่อไม่นานมานี้นักวิทยาศาสตร์จาก Ophthalmology and Powell Gene Therapy Center, University of Florida ได้มีการค้นพบวิธีการรักษาตาบอดสีได้สำเร็จ โดยใช้วิธีแก้ไขรหัสทางพันธุกรรมผ่านยีนในลิงกระรอก (squirrel monkey) และถึงแม้ว่าการทดลองนี้จะยังไม่สำเร็จในมนุษย์ แต่นี่ก็ถือเป็นอีกความหวังหนึ่งของผู้มีภาวะตาบอดสีเลยทีเดียว


ยาที่ใช้ในการรักษาตาบอดสี

ไม่มียาที่ใช้รักษาภาวะตาบอดสี

สมุนไพรที่ใช้รักษาตาบอดสี

ไม่มีสมุนไพรที่ใช้รักษาภาวะตาบอดสี