วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สายตาสั้น (Myopia) คืออะไร


สายตาสั้น หมายถึงภาวะความผิดปกติของสายตา ที่ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนเฉพาะวัตถุที่อยู่บริเวณใกล้ๆ แต่สำหรับวัตถุที่อยู่ไกลๆ จะเห็นได้ไม่ชัด เนื่องจากในผู้ที่สายตาสั้นการรวมแสงของภาพจะตกก่อนถึงจอประสาทตา แต่หากเลื่อนวัตถุที่อยู่ไกลมาใกล้ๆ หรือเดินเข้าไปใกล้วัตถุนั้น แสงที่ผ่านเข้ามาจะตกกระทบใกล้จอประสาทตามากขึ้น จนสุดท้ายสามารถโฟกัสภาพได้พอดี ส่งผลให้สามารถเห็นได้ชัดเจนขึ้นในระยะใกล้ โดยในทางฟิสิกส์ได้ให้นิยามโรคนี้ไว้ว่า ภาวะที่มองเห็นวัตถุในระยะใกล้ตาได้ชัด ที่ระยะไม่เกิน 25 เซนติเมตร และในระยะไกลตาไม่ถึงระยะอนันต์

สายตาสั้น



ปัญหาสายตาสั้นโดยทั่วไปจะไม่ถือว่ามีอันตราย แต่ในกรณีที่มีความรุนแรงก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงทำให้จอประสาทตาฉีกขาดได้ เราสามารถพบผู้ที่สายตาสั้นได้ทั่วๆ ไป ซึ่งประมาณร้อยละ 25 ของผู้ใหญ่จะมีภาวะนี้ โดยส่วนใหญ่จะตรวจพบในช่วงอายุ 8 – 12 ปี และจะสั้นขึ้นในช่วงวัยเรียนหรือวัยรุ่น จนสุดท้ายสายตาจะอยู่คงที่ในช่วงวัยทำงานต้นๆ(ประมาณไม่เกิน 23 ปี)

สายตาสั้นสามารถแบ่งเป็นชนิดย่อยๆ ดังนี้

1.Progressive myopia

สายตาสั้นชนิดนี้มักจะเป็นมาตั้งแต่เด็กและมีสาเหตุเกิดจากกรรมพันธุ์ โดยทั่วไปมักจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆจนเกินหนึ่งพันขึ้นไป สุดท้ายเนื่องจากความหนาของเลนส์ที่มากเกินไปทำให้ไม่สามารถสวมแว่นตามค่าสายตาที่สั้นได้ จำเป็นต้องใช้แว่นที่มีค่ากำลังน้อยกว่าความจริง ซึ่งสายตาจะสั้นลงเร็วมากในช่วงวัย 15-20 ปี จากนั้นจะค่อยๆช้าลง สาเหตุหลักคือการที่ลูกตายาวออกไปทางด้านหลัง จนทำให้การหักเหแสงจึงกลายเป็น Axial myopia คือภาวะที่ลูกตายื่นยาวออกไปเรื่อยๆนั่นเอง

2.Congenital myopia

ถือเป็นชนิดที่พบได้น้อยมาก โดยมากจะเกิดในวัยเด็กช่วงอายุ 3-4 ปี ซึ่งสายตามักจะไม่เกิน 3.00-5.00 D. และพอโตขึ้นถึงช่วงวัยรุ่นก็จะไม่เพิ่มขึ้นอีก

3.Simple myopia

เป็นชนิดที่คนส่วนใหญ่เป็นกัน บางครั้งถูกเรียกว่า สายตาสั้นโรงเรียน เพราะโดยทั่วไปมักเริ่มเป็นตอนวัยเริ่มเข้าโรงเรียนและสั้นมากขึ้นในระหว่างที่เรียนอยู่ ทำให้มีคนเข้าใจผิดว่ามีเกิดจากการใช้สายตาเยอะในระหว่างเรียน แต่มีการศึกษาระบุไว้ชัดเจนว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกัน

4.สายตาสั้นที่เกิดจากโรคตา

โรคบางอย่างก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดสายตาสั้นได้เช่นกัน


  • โรคเบาหวาน

ในผู้ป่วยเบาหวาน ดัชนีการหักเหแสงจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงและอยู่ใน Anterior chamber

  • ต้อกระจก (Cataract)


ผู้ที่มีปัญหาเรื่องต้อกระจก จะมีเลนส์ตาที่แข็งตัวส่งผลให้ค่าดัชนีการหักเหแสงเพิ่มขึ้นเช่นกัน


สาเหตุของสายตาสั้นมีอะไรบ้าง

การที่คนเราจะมีสายตาเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับความสมดุลระหว่างความโค้งของกระจกตาดำ เลนส์ตา และความยาวของลูกตา หากแสงจากภาพหรือจากวัตถุสามารถที่จะผ่านกระจกดำ หักเหผ่านเลนส์แก้วตา และสุดท้ายหักเหอีกรอบจนไปรวมเป็นจุดเดียวที่กลางของจอประสาทตาพอดี คนๆนั้นก็จะเห็นภาพได้อย่างชัดเจน นี่ก็คือสายตาของคนปกติที่เห็นภาพชัด แต่ในกรณีของคนที่สายตาสั้น แสงนั้นจะรวมเป็นจุดเดียวเช่นกัน แต่เป็นบริเวณก่อนจะถึงจอประสาทตา ส่วนที่จอประสาทตานั้นจะเป็นลำแสงที่บานออก ไม่เป็นจุดเดียว ส่งผลให้เห็นภาพได้ไม่ชัด

สาเหตุทั่วๆไป มีสองประการคือ การที่กระจกตามีความโค้งมากกว่าปกติทำให้มีกำลังหักเหแสงมากเกินไป ส่งผลให้ลำแสงรวมกันก่อนถึงจอประสาทตา และการมีลูกตายาวผิดปกติ ทำให้ลำแสงรวมกันเป็นจุดเดียวในบริเวณก่อนถึงจอประสาทตา


สายตาสั้นมีอาการอย่างไร

อาการสายตาสั้น

อย่างที่ทราบกันดีว่าผู้ที่สายตาสั้นจะมีปัญหาในการมองภาพระยะไกล ซึ่งอาการของแต่ละบุคคลนั้นจะขึ้นอยู่กับค่าของสายตาในกรณีของคนที่สายตาสั้นไม่มากนัก อาจจะไม่มีอาการอื่นนอกเหนือจากจากการมองภาพไกลๆไม่ชัด ทำให้สามารถที่จะทำงานที่ใช้สายตาระยะใกล้ได้อย่างไม่มีปัญหา

ในบางรายที่เป็นมาก ภายหลังจากใช้สายตามองใกล้อาจจะมีอาการปวดตาเนื่องจากต้องใช้การเพ่งมากกว่าปกติเพื่อให้การมองเห็นชัดเจนขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะตาเครียด หรือ Eye strain นั่นเอง


การรักษาสายตาสั้น



รักษาสายตาสั้น

            วิธีการช่วยให้ผู้มีปัญหาสายตาสั้นกลับมามองเห็นชัด มีดังนี้
วิธีการช่วยให้ผู้มีปัญหาสายตาสั้นกลับมามองเห็นชัด มีดังนี้

1.สวมแว่นตา หรือคอนแทคเลนส์

ใช้เลนส์เว้าที่มีกำลังเป็นลบไปไว้ข้างหน้ากระจกตาดำ ช่วยให้กำลังหักเหของแสงลดลงได้ดังนั้นแสงจึงไปตกที่จอประสาทตาพอดี จึงสามารถมองเห็นภาพระยะไกลได้อย่างชัดเจน

2.การแก้ไขที่กระจกตา

ปัญหาสายตาสั้นเกิดจากการที่มีกำลังหักเหมากเกินไปของกระจกตา เนื่องจากมีความโค้งที่มากเกินไป เราสามารถแก้ไขได้โดยการลดความโค้ง หรือทำให้กระจกตาแบนลง เนื่องจากกระจกตานั้นอยู่บริเวณหน้าสุดของดวงตา กระบวนการนี้จึงเป็นการผ่าตัดนอกลูกตา ไม่มีการไปรบกวนส่วนต่างๆภายในลูกตา อีกทั้งยังไม่ต้องกังวลว่าจะมีการติดเชื้อภายในลูกตา โดยทั่วไปการผ่าตัดที่กระจกตานั้นสามารถทำได้โดยวิธีการต่างๆ ต่อไปนี้

  • Radial Keratotomy(RK)


เป็นการกรีดกระจกตาให้ลึกประมาณร้อยละ 30 – 90 ของความหนากระจกตา โดยเว้นช่องว่างตรงกลางบริเวณรูม่านตาไว้ 3-5 มิลลิเมตร แล้วกรีดจนมาถึงตรงขอบกระจกตาให้เป็นเส้นรัศมีซึ่งจำนวนของเส้นและความลึกจะขึ้นกับค่าของสายตาที่สั้น ยิ่งสั้นมากยิ่งต้องกรีดลึกและจำนวนมาก

วิธีนี้สามารถใช้ได้เฉพาะผู้ที่สายตาสั้นไม่มาก (ไม่เกิน 400) เนื่องจากความยากในการกรีดให้สม่ำเสมอ และปัจจุบันมีเครื่องมือที่ละเอียดและแม่นยำกว่า วิธีนี้จึงไม่นิยมในการใช้รักษาสายตาสั้นในปัจจุบัน

  • Photorefractive Keratotomy (PRK)


เป็นการทำให้กระจกตาแบนลงด้วยExcimer laser ซึ่งในแต่ละครั้งสามารถขูดผิวกระจกตาออกได้บางขนาดต่ำกว่า 1 ไมครอนก่อให้เกิดความร้อนต่อผิวที่ตัดและบริเวณใกล้เคียงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่มีอันตรายต่อเนื้อเยื่อของกระจกตา และส่งผลให้เกิดการอักเสบน้อยกว่าการทำ RK

วิธีนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่สายตาสั้นมากๆ เพราะต้องฝานออกหนามาก โดยการฝานออกมากนั้นจะทำให้เกิดฝ้าขาว(haze) ซึ่งอาจจะส่งผลให้สายตามัวลงได้ และผู้ได้รับการรักษาโดยวิธีนี้จะต้องทนความเจ็บปวดอย่างมากนาน 2-3 วัน เพราะชั้นผิว epithelium ถูกทำลาย

  • laser in situ keratomileusis(LASIC)


วิธีนี้เป็นที่นิยม และรู้จักกันเป็นอย่างดี เป็นการใช้เลเซอร์ชนิดเดียวกันกับการทำPRK แต่การทำเลสิคนั้น จะใช้microkeratiome(เครื่องฝานกระจกตา) เพื่อฝานกระจกตาขนาด 100-200 ไมครอน เพื่อเปิดเป็นฝาแล้วจึงใช้เลเซอร์ยิง แล้วปิดฝาที่เปิดไว้โดยไม่ต้องเย็บ เป็นวิธีที่ไม่ก่อให้เกิดฝ้าขาวสามารถใช้แก้ไขสายตาที่สั้นมากได้ อีกทั้งไม่มีการเจ็บปวดและสายตากลับมาเห็นชัดได้รวดเร็ว

3.การแก้ไขที่แก้วตา

การแก้ไขที่แก้วตาเป็นการทำที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาแพงเหมือนการทำ PRK หรือLASIC อีกทั้งยังใช้เทคนิคที่ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน หมอตาทุกคนคุ้นเคยดี และสามารถแก้ไขปัญหาสายตาสั้นมากๆได้ดี โดยไม่มีการกลับมาสั้นอีก แต่มีข้อเสียคือ เป็นการทำผ่าตัดที่เข้าไปถึงชั้นในของลูกตา จึงเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อ และการเอาแก้วตาธรรมชาติออก จะส่งผลให้กระบวนการเพ่ง (accommodation) เสียไป

การรักษาสายตาสั้นโดยแก้ไขที่แก้วตา สามารถทำได้ดังนี้

  • เอาแก้วตาธรรมชาติออกอย่าง


เป็นวิธีที่เหมาะสมกับผู้ที่สายตาสั้นมากๆ (1200-1500) โดยจะใช้ phacoemulsification ซึ่งเป็นเครื่องมือสลายต้อกระจก มีข้อดีคือ การผ่าตัดทำได้ง่าย แผลหายเร็ว ไม่ต้องเย็บแผลเพราะมีขนาดเล็กและสายตาจะเห็นชัดทันทีในวันรุ่งขึ้น

  • การเอาแก้วตาธรรมชาติออก ตามด้วยแก้วตาเทียมที่เหมาะสม


หลังจากที่ผ่าเอาแก้วตาธรรมชาติออกแล้ว หากวัดสายตาแล้วพบว่าค่าสายตายังสั้นหรือยาว ก็จะแก้ไขโดยเลือกเอาแก้วตาเทียมที่เหมาะสมใส่เข้าไปแทนที่ เป็นวิธีเดียวกับการรักษาต้อกระจกร่วมกับการฝังแก้วตาเทียม

  • การฝังเลนส์เสริม


เป็นวิธีที่ไม่ยุงกับแก้วตาธรรมชาติ แต่จะนำเลนส์แก้ไขสายตาที่ผิดปกติฝังเข้าไปในตาต่างจากกรณีของคอนแทคเลนส์ซึ่งปกติจะวางที่หน้าลูกตาและเลนส์เสริมนี้ไม่ต้องถอดออกมาทำความสะอาด โดยต้องผ่าตัดเปิดแผลขนาดกว้างพอที่จะสอดเลนส์เสริมนี้เข้าไปวางในบริเวณใกล้ๆ กับแก้วตาธรรมชาติ ดังนั้นวิธีนี้จึงอาจมีผลกระทบต่อแก้วตาธรรมชาติได้


ยาที่ใช้ในการรักษาสายตาสั้น

ไม่มียาที่ใช้รักษาสายตาสั้นแต่จะมีเพียงวิตามิน A ที่มีส่วนช่วยบำรุงสายตาเท่านั้น


สมุนไพรที่ใช้รักษาสายตาสั้น

ไม่มีสมุนไพรที่ใช้รักษาสายตาสั้น