วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561

อาการปวดเอว แก้บรรเทาได้ง่ายๆ


อาการปวดหลังส่วนล่าง หรือปวดเอว (Low back pain) เป็นปัญหาที่พบบ่อยมากในเวชปฏิบัติทั่วไป โดยพบเป็นปัญหาสาธารณสุขที่พบได้บ่อยเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน มักพบในกลุ่มอาชีพที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ เช่น นักกราฟฟิกดีไซน์ พนักงานคีย์ข้อมูล นักบัญชี เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่า กว่า 80% ของประชากรจะพบมีอาการปวดหลังที่รุนแรง จนส่งผลกระทบต่อร่างกาย การดำเนินชีวิต ทำให้ผู้ป่วยมีความลำบากในการทำกิจวัตรประจำวัน เป็นสาเหตุของการลาหยุดงานและเกิดความวิตกกังวล การตรวจวินิจฉัยและการรักษา

ปวดเอว

กลไกการเกิดอาการปวดเอว


อาการปวดเอว

เนื่องจากกระดูกสันหลังช่วงบั้นเอว ตั้งแต่ระดับบั้นเอวท่อนที่ 1 เป็นช่วงที่ต้องแบกรับภาระหนักสุดในการทำงานของร่างกาย และมีการเคลื่อนไหวได้มากกว่าช่างอื่นๆ เวลาก้มหลังลงทำให้มีการงอ (flexion) ของโครงกระดูกสันหลัง การเคลื่อนไหวนี้ต้องอาศัยความยืดหยุ่นของหมอนรองกระดูกสันหลังเป็นส่วนใหญ่ ในอิริยาบถต่างๆกัน จะทำให้มีแรงผ่านหรือแรงกระทำต่อกระดูกสันหลังไม่เท่ากัน ดังนั้น อิริยาบทใดก็ตามที่ทำให้แนวดิ่งของน้ำหนักตัวห่างจากกระดูกสันหลังออกไปก็จะทำให้กระดูกสันหลังรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เมื่อกระดูกสันหลังต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็นเวลานานๆ ก็จะทำให้เกิดความเสื่อมของโครงสร้างกระดูกสันหลังช่วงบั้นเอว นอกจากนี้ อาจเกิดจากขบวนการทางพยาธิสภาพ ที่ไปกระตุ้นการรับความรู้สึกปวดในเส้นประสาทส่วนปลาย ในโครงสร้างที่ไวต่อการกระตุ้นความปวดของกระดูกสันหลัง ซึ่งมี 2 กลไก คือ
  1. การระคายเคืองจากสารเคมี ปรากฏในโรคที่มีขบวนการอักเสบ หรือการอักเสบตามมาภายหลังจากมีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ สารเคมีที่ไปกระตุ้นที่ปลายประสาทหลั่งออกมาจากเซลล์ที่อักเสบ หรือจากเซลล์เนื้อเยื่อที่ได้รับอันตราย ทำให้เกิดการเกร็ง การฉีกขาด การขาดเลือด และการอักเสบ
  2. การเปลี่ยนแปลงเชิงกล ที่กระทำต่อกล้ามเนื้อ เอ็น หรือพังผืด เยื่อหุ้มกระดูกและข้อ เช่น แรงกด แรงดึงยึด เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงเชิงกลมีผลกระทบไปยืดเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน โดยไม่มีผลต่อตัวสื่อทางเคมี โดยแนวของเส้นใยเกี่ยวพันในเส้นเอ็น ข้อต่อ หรือเยื่อหุ้มกระดูกวางตัวอยู่ใต้แรงตึง ทำให้สามารถเกิดการผิดรูปได้ และระยะห่างแต่ละเส้นใยเกี่ยวพันอยู่ชิดกันมากขึ้น ปลายประสาทหรือใยประสาทอาจถูกกระตุ้นโดยการเบียดกัน ระหว่างเส้นใยเกี่ยวพันที่เบียดใกล้เข้ามา

เมื่อมีสิ่งกระตุ้นปลายประสาทรับความรู้สึกบริเวณกระดูกสันหลัง ที่อยู่ในแคปซูลของข้อและเอ็นยึดข้อต่อ ตำแหน่งรอบหลอดเลือดหรือน้ำเหลือง กระดูก เยื่อหุ้มกระดูก กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น สิ่งกระตุ้นอาจเป็นพลังงานกลหรือการทำลายเนื้อเยื่อ เนื้อเยื่อนี้จะปล่อยสารเคมี เช่น แบรดีไคนิน (bradykinin) พรอสตาแกลนดิน (prostaglandin) ซีโรโตนิน (serotonin) ฮีสตามีน (histamine) และกรด ทำให้ระคายเคืองเนื้อเยื่อบริเวณหลังช่วงบั้นเอว มีความไวต่อความปวดมากขึ้น จะทำให้เกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับ ทำให้กล้ามเนื้อลายและหลอดเลือดบริเวณหลังมีการหดตัว ทำให้ปริมาณการไหลเวียนของเลือดลดลง เกิดภาวะขาดออกซิเจน (hypoxia) เมื่อกล้ามเนื้อได้รับออกซิเจนน้อยลง แต่มีการเผาผลาญเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อจึงมีการเผาผลาญแบบไม่ใช้ออกซิเจน เกิดกรดแลคติค (lactic acid) จะไปกระตุ้นปลายประสาทรับความรู้สึกปวดของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดความปวดของกล้ามเนื้อ ฉะนั้น การหดตัวของกล้ามเนื้อและหลอดเลือดเป็นตัวกระตุ้นใหม่ ทำให้เกิดความปวดรุนแรงขึ้น ความปวดที่รุนแรงขึ้นนี้จะไปเพิ่มปฏิกิริยาสะท้อนกลับที่ไขสันหลังมากขึ้น เป็นวงจรต่อเนื่องกันไป (vicious cycle


สาเหตุที่พบบ่อยของอาการปวดเอว


สาเหตุอาการปวดเอว

  1. กล้ามเนื้อหลังอักเสบทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง เป็นสาเหตุที่พบบ่อยเนื่องมาจากการใช้หลังที่ผิดวิธี
  2. หมอนรองกระดูกสันหลังกดทับรากประสาท
  3. ข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเอวแบบค่อยเป็นค่อยไป และอาจมีอาการปวดร้าวลงขา
  4. ช่องกระดูกสันหลังตีบแคบ
  5. ข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม ความไม่มั่นคงของกระดูกสันหลัง

สาเหตุอื่นๆของอาการปวดเอว
  1. โรคทางเดินปัสสาวะ
  2. โรคของอวัยวะภายในช่องท้อง เชิงกราน
  3. โรคหลอดเลือดแดงใหญ่
  4. โรคทางระบบประสาท
  5. อาการปวดที่เกิดจากอวัยวะหรือโครงสร้างที่อยู่ใกล้เคียง

สัญญาณอันตรายของโรคปวดเอว
  1. มีอาการไข้ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด อาการเหล่านี้อาจเกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อ หรือโรคมะเร็ง
  2. ขาชาและอ่อนแรง กลั้นอุจจาระและปัสสาวะลำบาก เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบประสาทกล้ามเนื้อ
  3. ปวดเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ และอาการปวดไม่ดีขึ้น ถึงแม้จะพักผ่อนและทานยาครบแล้ว

การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการปวดเอว
  1. ระวังอิริยาบถ เมื่อต้องยกของหนัก ควรให้หลังตรงตลอดเวลา และงอเข่าทั้งสองข้างแทน ไม่ควรก้มๆเงยๆมากและนานเกินไป หากนั่งขับรถทางไกลเป็นประจำควรหาจุดหยุดพักบ้าง
  2. ขณะทำงาน ควรมีเก้าอี้ที่มีพนักพิงหลัง ความสูงพอเหมาะ ระหว่างทำงานควรหาเวลาหยุดพักเพื่อออกกำลังกายบริเวณเอวและเคลื่อนไหว เปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ให้อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไป
  3. ลดความเครียดในชีวิตประจำวัน จะช่วยบรรเทาอาการปวดหรือตึงของกล้ามเนื้อเอวได้
  4. การพักผ่อน ควรมีการพักผ่อนที่เพียงพอ นอนบนที่นอนที่แข็งพอดี
  5. งดการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และลดน้ำหนักตัว เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้มีส่วนทำให้กระดูกสันหลังเกิดภาวะข้อเสื่อม
  6. รับประทานอาหารครบตามหลักโภชนาการ กระดูกต้องการสารอาหารและแร่ธาตุต่างๆเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และสร้างเสริมกระดูกและข้อให้แข็งแรง
  7. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังมีการเคลื่อนไหว สร้างความมั่นคงและแข็งแรง