วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561

อาการปวดเข่าแก้ไขได้ด้วยตัวเอง


อาการปวดเข่า เป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยในกลุ่มวัยกลางคนและผู้สูงอายุ อัตราการเกิดโรคมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆในทุกปี จากการที่มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น และเนื่องจากเข่าเป็นข้อต่อของร่างกายที่ทำหน้าที่แบกรับน้ำหนักตัวขณะที่เรายืน เดิน ซึ่งเป็นกิจวัตรที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นจึงส่งผลรบกวนต่อกิจวัตรประจำวันหรือการทำงาน

ปวดเข่า

ข้อเข่าประกอบด้วยกระดูก 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง และกระดูกสะบ้า ซึ่งยึดติดกันด้วยเส้นเอ็น ผิวสัมผัสของกระดูกทั้งสามจะมีเยื่อบุข้อเซลล์ประสาทรับความรู้สึก และมีกระดูกอ่อนลักษณะเรียบ ลื่น ผิวมันวาวคลุมอยู่ เพื่อรองรับแรงกระแทกที่เกิดขึ้นขณะที่มีการเคลื่อนไหว อีกทั้งทำให้รูปร่างกระดูกพอดีกัน

สาเหตุหลักของอาการปวดเข่ามักเกิดจาก
  1. ข้อเข่าเสื่อม
  2. ข้ออักเสบจากการติดเชื้อ อาจเป็นแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง เช่น ข้ออักเสบเป็นหนองจากเชื้อแบคทีเรีย วัณโรคข้อเข่า เป็นต้น
  3. ข้ออักเสบจากผลึกเกลือ เช่น ข้ออักเสบจากโรคเก๊าท์ซึ่งเกิดจากผลึกกรดยูริก เป็นต้น
  4. โรคข้อบางชนิด เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์
  5. อุบัติเหตุ เช่น หกล้มแล้วปวดขา กระดูกสะบ้าเคลื่อน เอ็นฉีกขาด เข่าบวมอักเสบ
  6. การอักเสบของเอ็นที่อยู่รอบๆข้อ

อาการที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าข้อเข่ากำลังมีปัญหา
  1. เจ็บปวดบริเวณข้อเข่า ซึ่งมักเป็นแบบปวดเมื่อย
  2. ข้อเข่าอ่อน หรือสะดุดติด
  3. ข้อเข่าติด ซึ่งอาจพบในบางช่วงเวลา เช่น ตอนเช้าหรือหลังตื่นนอน
  4. ข้อเข่าหลวมมีเสียงดังขณะเคลื่อนไหว
  5. ข้อเข่าบวม รู้สึกร้อนภายในข้อเข่า

ปัญหาปวดเข่าเป็นเพียงอาการ ซึ่งแพทย์จะต้องทำการตรวจร่างกาย ซักประวัติอย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุ รวมถึงประเมินการอักเสบของข้อต่างๆ ซึ่งบางครั้งอาจต้องอาศัยผลตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด ถ่ายภาพรังสี เป็นต้น

การรักษาอาการปวดเข่า


รักษาอาการปวดเข่า

โดยทั่วไปจะเน้นรักษาอาการตามสาเหตุ หรือลดปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ ได้แก่
1.การใช้ยา ยาที่ใช้บ่อยได้แก่
  • พาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการปวด กรณีที่ไม่ปวดมาก ซึ่งแนะนำให้ใช้ในภาวะข้อเสื่อม
  • ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดและการอักเสบได้ดี แต่ต้องระวังเรื่องโรคกระเพาะอาหารและโรคไต
  • ยาที่ใช้รักษาหรือแก้ไขที่สาเหตุที่แท้จริง ได้แก่ ยาลดกรดยูริก ในกรณีที่เป็นโรคเก๊าท์ ยาต้านจุลชีพ กรณีที่มีการอักเสบติดเชื้อ
2.การใส่ปลอกเข่า เพื่อช่วยพยุงเข่า หรือเอ็นที่อยู่รอบๆ
3.การพักข้อ ในกรณีที่มีการอักเสบแบบเฉียบพลัน ซึ่งมักจะมีอาการปวดบวมมาก การพักทำได้โดย การลดการยืน เดิน ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรืออาจจะใช้เครื่องช่วยเดิน เช่น ไม้เท้า เพื่อแบ่งเบาน้ำหนักตัวที่ข้อเข่าต้องแบกรับ
4.การถนอมข้อ ซึ่งจำเป็นมากกรณีที่มีปวด หรือการอักเสบเรื้อรัง ทำได้โดย
  • การไม่ยืน เดินมากเกินไป เช่น ขณะรีดผ้าหรือเตรียมอาหาร ให้นั่งเก้าอี้แทนการยืน ขึ้นลงบันไดเท่าที่จำเป็น
  • ใช้ไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยเดิน
  • ลดน้ำหนักตัว เนื่องจาก เข่าต้องทำหน้าที่รับน้ำหนักตัว
  • ไม่งอหรือพับเข่ามาก ได้แก่ งดการนั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ หรือนั่งยองๆ
5.การออกกำลังบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า ทำได้โดย
ท่าที่ 1 นอน-กดเข่า

ปวดเข่า

นอนหงาย ใช้หมอนใบเล็กหนุนใต้เข่าทั้งสอง กดเข่าพร้อมกระดูกข้อเท้า เหยียดเข่าข้างหนึ่งให้ตรงที่สุด เกร็งไว้ 5-10 วินาที เอาลงพัก แล้วเหยียดเข่าอีกข้างหนึ่งเช่นเดียวกัน ทำสลับกันข้างละ 10 ครั้ง
ท่าที่ 2 นอน-ยกขาเหยียดเข่า

ปวดเข่า

นอนหงายชันเข่าด้านตรงข้ามกับที่มีอาการเจ็บ ทำมุม 45 องศา ยกขาด้านที่เจ็บขึ้นให้เข่าเหยียดตรงสูง 45-60 องศา เกร็งไว้ 5-10 วินาที ทำสลับกันข้างละ 10 ครั้ง

ท่าที่ 3 นั่ง-ยกเหยียดเข่า

ปวดเข่า

ทำได้โดยนั่งเก้าอี้ที่มีพนักพิง นั่งพิงพนักเก้าอี้ เหยียดเข่าตรง หรือให้ปลายขาขนานกับพื้น นับ 1-5 ช้าๆแล้ววางลง นับเป็น 1 ครั้ง ให้ทำข้างละ 10-20 ครั้งต่อชุด วันละ 2 ชุด หากทำได้ดีแล้วอาจผูกน้ำหนักที่บริเวณเหนือข้อเท้า เพื่อให้ขาหนักขึ้น โดยเริ่มต้นจากน้ำหนักน้อยๆ จำนวนครั้งน้อยๆก่อน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัย และสภาพของผู้ออกกำลัง

6.ใช้ความเย็นประคบกรณีที่ปวดบวมแบบเฉียบพลัน โดยเฉพาะ 24 ชั่วโมงแรก หลังเกิดอุบัติเหตุ
7.ใช้ความร้อนประคบกรณีที่มีอาการเรื้อรัง การใช้ความร้อนควรระมัดระวังอย่าให้ความร้อนมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดแผลไหม้ได้ แนะนำให้ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นบีบหมาดๆ หรือใช้กระเป๋าน้ำร้อนโดยมีผ้าพันทับก่อนวางประคบ โดยวางนานประมาณ 10-15 นาที ทั้งนี้ ต้องระวังเป็นพิเศษในกรณีผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการรับความรู้สึก เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการชาจากปลายประสาทผิดปกติ หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถร่วมมือหรือบอกความรู้สึกได้ เช่น ผู้ป่วยความจำเสื่อม เป็นต้น การใช้ความเย็นหรือความร้อนประคบ จะไม่เหมาะในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบจากผลึกเกลือหรือการติดเชื้อ
8.การเจาะข้อหรือถุงน้ำ ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดอาการปวดหรือบวม
6.การผ่าตัด เพื่อช่วยลดอาการปวด หรือการผิดรูปของข้อเข่า

ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของร่างกายและข้อ
  1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  2. รับประทานผักและผลไม้ให้มาก และเป็นประจำ
  3. ทานเนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ เต้าหู้ และถั่วต่างๆ
  4. ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย
  5. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสหวานจัดและเค็มจัด
  6. งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  7. ดื่มน้ำเปล่าให้มาก ประมาณ 8-10 แก้วต่อวัน